ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 22
Small_font Large_font

ต้อลมและต้อเนื้อ (pingecgular & pterygium)

คำจำกัดความ

ต้อลม (pinguecula) และต้อเนื้อ (pterygium) มีลักษณะเป็นแผ่นหรือตุ่มนูนอยู่บริเวณเยื่อตาขาว มักพบบริเวณหัวตามากกว่าหางตา ต้อลมและต้อเนื้อไม่ใช่เนื้องอก แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปกติที่มีการสะสมของโปรตีนและไขมันอยู่ ต้อลมต่างจากต้อเนื้อตรงที่ไม่มีการลุกลามเข้าไปบนตาดำ ต้อเนื้อและต้อลมจะค่อยๆ โตอย่างช้าๆ ส่วนใหญ่มักเป็นนานร่วมสิบปีจึงจะรู้สึกว่าเป็นมากขึ้น ถ้าเป็นมากจะลามเข้าถึงกลางกระจกตาปิดบังการมองเห็นบางส่วน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตามัวได้ กลไกการเกิดโรคที่แท้จริงยังไม่เป็นที่เข้าใจมากนัก ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเกิดจากการระคายเคืองตาจากฝุ่น หรือได้รับแสงแดดมาเป็นเวลานาน ๆ โดยพบว่าผู้ที่ทำงานนอกบ้าน ได้รับแสงแดดปริมาณมากจะเป็นต้อเนื้อ-ต้อลมได้มากขึ้น นอกจากนี้การใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศแห้งและมีฝุ่นละอองมาก ก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน

ลักษณะทางกายวิภาคของเยื่อตาขาว เรียกว่า conjunctiva เป็นเนื้อเยื่อบางๆ ที่มีลักษณะโปร่งใส คลุมพื้นผิวส่วนนอกของลูกตา เริ่มต้นตั้งแต่ส่วนนอกของกระจกตา คลอบคลุมส่วนที่มองเห็นได้ของตาขาว และบุลึกเข้าไปถึงด้านในของหนังตา เยื่อตาขาวจะมีเส้นเลือดขนาดเล็กปกคลุมอยู่ซึ่งมักมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เซลล์ของเยื่อตุตาขาวทำหน้าที่ผลิตน้ำมันและเมือกหล่อลื่นให้กับลูกตา

มักพบบ่อยในกลุ่มประเทศที่อยู่ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตร พบว่าความชุกในการเกิดจะลดลงในประเทศที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร เชื่อว่าอัตราการเกิด สัมพันธ์กับแสงยูวี ต้อเนื้อหรือต้อลมพบน้อยในคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี จะมีโอกาสเกิดมากขึ้นแต่มักพบต้อลมต้อเนื้อมากที่สุดในช่วง อายุ 20-40 ปี

อาการ

มีได้ตั้งแต่ไม่มีอาการอะไร เพียงแต่เห็นลักษณะเยื่อบุตาที่นูนขึ้น หรือ มีอาการที่มักพบ ได้แก่ การแดง ระคายเคือง ตา แสบตาน้ำตาไหล คันตา ตาแห้งหรือบวม ในบางรายอาจพบว่า การมองเห็นลดลงได้ถ้าต้อเนื้อมีขนาดใหญ่และลุกลามเข้ามาในกระจกตาดำมากจนทำให้เกิดภาวะสายตาเอียง หรือในบางคนขนาดใหญ่มากจนบดบังรูม่านตา น้อยรายที่จะพบว่าต้อเนื้อมีการลุกลามไปเกาะที่กล้ามเนื้อตาทำให้เกิดภาพซ้อนได้เวลากลอกตา

อาการแสดง
ต้อลมหรือต้อเนื้อมักเกิดที่บริเวณหัวตาหรือหางตาติดกับกระจกตาดำ โดยด้านที่หัวตามักพบบ่อยกว่าหางตา สำหรับลักษณะต้อเนื้อแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ

  1. เป็นแผ่นเนื้อบางๆ แบนๆ ไม่แดง มักจะโตช้า และโอกาสเกิดเป็นซ้ำหลังผ่าตัดมีน้อย
  2. กลุ่มที่สองต้อเนื้อจะมีลักษณะโตค่อนข้างเร็ว นูนหนา อาจมีแดงเป็นๆ หายๆ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีโอกาสเกิดซ้ำได้มากหลังการผ่าตัดลอกต้อเนื้อ

สาเหตุ

ต้อเนื้อและต้อลม เกิดจากการที่ตาได้รับรังสีอุลตราไวโอเลตจากแสงแดดเป็นเวลานานร่วมกับการโดนฝุ่นละออง ควัน ลม ความแห้งแล้ง อากาศร้อนและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อตา โรคนี้จึงมักเกิดกับผู้ที่อยู่ในเขตร้อนและผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง มีหลายคนเข้าใจผิดว่าต้อเนื้อเกิดจากการรับประทานเนื้อ จึงป้องกันโดยการไม่รับประทานเนื้อ เพราะกลัวว่าจะทำให้เป็นมากขึ้นซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะโรคนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากอาหารที่รับประทาน

สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดต้อเนื้อต้อลมยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดได้แก่

  • การสัมผัสต่อแสงยูวีโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่อยู่ในเขตร้อน
  • อาชีพที่ต้องออกข้างนอกบ่อยๆ พบลมแดดบ่อยๆ
  • พบว่าในคนที่มีประวัติครอบครัวเป็น มีโอกาสที่จะเกิดต้อเนื้อต้อลมได้มากขึ้น

การวินิจฉัย

โดยการตรวจพบว่าเยื่อบุตาขาวหนาตัวขึ้น มักอยู่ในตำแหน่งหัวตาและหางตา อาจโตเข้าไปคลุมกระจกตาด้วย

ภาวะแทรกซ้อน

โดยทั่วไป โรคนี้ไม่ถึงกับทำให้เกิดอันตรายต่อตา เพราะก่อนจะถึงขั้นเป็นมากจนปิดตาดำ ผู้ป่วยมักจะไปพบแพทย์ เพื่อตรวจรักษาเสียก่อนที่โรคจะเป็นมากขึ้น เว้นในคนแก่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ปล่อยละเลยจนปิดตามิดทั้ง 2 ข้าง ทำให้ตาบอดได้และการผ่าตัดลอกออกทำได้ค่อนข้างยาก

การรักษาและยา

โดยทั่วไปต้อลมมักไม่ค่อยทำให้มีอาการ และโตช้า บางคนอาจเป็นแค่ต้อลมไปตลอดโดยไม่ได้มีการลุกลามเป็นต้อเนื้อ ดังนั้นต้อลมส่วนใหญ่จึงไม่ต้องการการรักษาเพียงแค่หลีกเลี่ยงการสัมผัสต่อลม แดด บ่อยๆ เท่านั้นสำหรับต้อเนื้อ หากไม่มีอาการและต้อเนื้อมีขนาดเล็กก็เพียงแค่หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมแดดเช่นกัน ควรใส่แว่นกันแดดในเวลาที่ออกกลางแจ้งเพื่อลดอาการต่างๆ ทำให้รู้สึกสบายตาขึ้น

การรักษาด้วยยา
มักใช้ยาในกรณีที่ต้อเนื้อมีการอักเสบแดงบ่อยๆ หรือทำให้เกิดการระคายเคืองตา น้ำตาไหล ตาแดง ซึ่งยากลุ่มที่มักจะใช้คือกลุ่มยาหยอด antihistamine หรือน้ำตาเทียม เพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองตาและทำให้ตาไม่แดง แต่ยาหยอดตาไม่สามารถทำให้ต้อเนื้อและต้อลมหายไปได้

การรักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัด ในผู้ที่เป็นต้อเนื้อซึ่งลุกลามเข้าไปบนกระจกตาขนาดพอสมควร แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาโดยการผ่าตัด แต่ถ้าเป็นน้อยก็ไม่จำเป็นต้องทำผ่าตัด ส่วนต้อลมนั้นไม่จำเป็นต้องผ่าตัดออกเพราะเป็นเพียงก้อนเนื้อขนาดเล็กๆ ที่ไม่มีอันตรายต่อตา จักษุแพทย์มักจะแนะนำให้รักษาแบบประคับประคอง คือหยอดยาเมื่อมีอาการคัน สาเหตุที่ไม่ตัดออกตั้งแต่ยังเป็นน้อยๆ เพราะต้อลมนั้นมีโอกาสเกิดเป็นใหม่ ภายหลังตัดไปแล้วได้ค่อนข้างมาก

โดยทั่วไปวิธีตัดออกนั้นมีหลายวิธี แพทย์จะเลือกทำวิธีที่มีโอกาสกลับเป็นใหม่น้อยที่สุด ภายหลังทำการตัดออก ต้องหลีกเลี่ยงฝุ่น แดด ลมแรงๆ แพทย์มักจะให้ปิดตาไว้หลังผ่าหนึ่งวัน เปิดได้ในวันรุ่งขึ้น หลังทำจะมีน้ำตา และมีอาการเคืองคันมากกว่าเดิมเป็นสัปดาห์ได้

การรักษาด้วยการผ่าตัดคือการลอกเอาต้อเนื้ออกและอาจใช้เยื่อบุตาบริเวณอื่นๆหรือเยื่อหุ้มรกเย็บปิดบริเวณที่ลอกต้อเนื้อออกไปข้อบ่งชี้ของการลอกต้อเนื้อได้แก่

  • ต้อเนื้อมีการอักเสบแดงบ่อยๆ ใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้น
  • ต้อเนื้อมีขนาดใหญ่ทำให้เกิดภาวะสายตาเอียง การมองเห็นลดลง
  • ต้อเนื้อมีขนาดใหญ่จนเกือบจะปิด หรือบดบังรูม่านตา
  • เพื่อความสวยงาม (cosmetic problem)

การผ่าตัดสามารถทำเป็นแบบผู้ป่วยนอกได้ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หลังการผ่าตัดจักษุแพทย์มักปิดตาไว้ 1 วัน วันรุ่งขึ้นจะนัดผู้ป่วยมาเปิดตาและ ดูแผลร่วมกับมียาหยอดให้หยอด โดยทั่วไปแพทย์อาจนัดตัดไหมที่ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่จะนัดติดตามดูแผลต่อที่ประมาณ 1 ถึง 3 เดือน

ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดต้อเนื้อ
โดยทั่วไปพบได้น้อยแต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ได้แก่

  • ติดเชื้อที่บริเวณผ่าตัด
  • เยื่อบุตาหรือเยื่อหุ้มรกที่นำมาเย็บปิดมีการหลุดจากตำแหน่งที่เย็บไว้
  • เกิดแผลเป็นที่กระจกตาดำ ไม่ถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วบริเวณกระจกตาดำที่ต้อเนื้อเคยไปเกาะ
  • เมื่อลอกต้อเนื้อออกบริเวณนั้นก็จะมีแผลเป็นได้อยู่แล้ว โดยเห็นเป็นฝ้าขาวๆ มากน้อยแค่ไหนขึ้นกับว่าต้อเนื้อนั้นเกาะกระจกตาดำลึกแค่ไหน ถ้าเกาะลึกมากก็เป็นเป็นฝ้าขาวมาก
  • เห็นภาพซ้อน เกิดจากพังผืดในกระบวนการหายของแผลมีการดึงรั้งกล้ามเนื้อตา
  • การกลับเป็นซ้ำของต้อเนื้อ พบได้บ่อย โดยเฉพาะถ้าต้อเนื้อก่อนผ่าตัดมีลักษณะนูนหนา แดง บ่อยๆ ดังกล่าวข้างต้น ส่วนใหญ่แล้วโอกาสเกิดซ้ำจะอยู่ที่ประมาณ 5-15% ถ้ามีการเกิดเป็นซ้ำการผ่าตัดครั้งต่อไปอาจมีการใช้สารบางอย่างในการผ่าตัดเพื่อยับยังเซลล์หรือพังผืดที่ทำ ให้ต้อเนื้อเป็นซ้ำทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

แหล่งอ้างอิง

1. สมสงวน อัษญคุณ, ประภัสสร ผาติกุลศิลา และคณะ, บรรณาธิการ. โรคตาที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติ. เชียงใหม่ : วิทอินดีไซน์ จำกัด. 2552.
2. ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ และประภัสร์ ศุขศรีไพศาล, บรรณาธิการ. จักษุวิทยาสำหรับเวชปฏิบัติทั่วไป. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน. 2545.



18 มีนาคม 2554 30 มีนาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย