ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 7604
Small_font Large_font

แผลริมขอบทวารหนัก (anal fissure)

คำจำกัดความ

แผลริมขอบทวารหนัก (Anal fissure) : คือแผลที่เกิดขึ้นที่ปากของทวารหนัก เป็นโรคที่พบได้ทุกวัย สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะมีการเบ่งถ่ายที่รุนแรงจากท้องผูกหรือท้องเสีย บางครั้งเกิดจากการสอดใส่วัสดุแปลกปลอมทางทวารหนัก โดยทั่วไปแผลมักหายได้เอง ภายใน 1-3 สัปดาห์

อาการ

อาการของโรคนี้แบ่งได้เป็น 2 ระยะ ตามเวลาที่เป็นโรค คือ

  • ระยะแรก : ผู้ป่วยจะมีเลือดสดหยดขณะถ่ายหรือตามหลังการถ่ายอุจจาระ (เลือดจะไม่ปนในก้อนอุจจาระ) และมีอาการปวดเหมือนมีดบาดขณะถ่ายอุจจาระ แพทย์จะตรวจพบเป็นเพียงรอยแผลที่ขอบทวารหนัก
  • เมื่อเป็นนาน จะเข้าสู่ระยะที่สอง(ระยะเรื้อรัง) : แผลที่พบจะมีขอบแข็ง แผลลึกมากขึ้นจนอาจเห็นกล้ามเนื้อหูรูด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบขณะถ่ายอุจจาระมากกว่าในระยะแรก ร่วมกับมีติ่งเนื้อเกิดขึ้นที่ขอบแผลบริเวณปากทวารหนัก ถ้าเกิดมีการอักเสบบวม จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมากขึ้น ยิ่งมีการอักเสบบ่อยแค่ไหน จะยิ่งทำให้ติ่งเนื้อโตเร็วขึ้นและอักเสบบ่อยขึ้น

สาเหตุ

สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่นอน แต่เชื่อว่าเกิดจากการที่กล้ามเนื้อหูรูดที่ปากทวารหนักหดตัวมากขึ้น
—> ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นก้อนแข็ง
—> ก้อนอุจจาระจึงบาดที่เยื่อบุบริเวณขอบทวารหนัก จนเกิดเป็นแผลขึ้น
—> เมื่อเป็นแผล ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเวลาถ่ายอุจจาระ ทำให้ไม่อยากถ่ายอุจจาระ ส่งผลให้อุจจาระเป็นก้อนแข็ง
—> ก้อนอุจจาระที่แข็งไปบาดบริเวณปากทวารหนัก ทำให้เป็นแผลมากขึ้น
กลายเป็นวงจรที่ทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงเรื่อยๆ

การวินิจฉัย

ประวัติ : ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการดังกล่าว

การตรวจร่างกาย : การตรวจโดยใช้นิ้วมือแหวกแก้มก้นออก จะเห็นแผลปริเป็นร่องอยู่ที่เยื่อบุบริเวณขอบทวารหนัก ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจพบว่าปลายบนและปลายล่างของแผลจะบวมเป็นติ่งเนื้อได้

การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฎิบัติการ : ส่วนใหญ่ไม่จำเป็น เพราะสามารถเห็นแผลได้ด้วยตาเปล่าขณะตรวจร่างกาย ส่วนใหญ่แพทย์ไม่มีความจำเป็นต้องใส่เครื่องมือเข้าไปตรวจในทวารหนัก (Proctoscopy) เพราะไม่ช่วยในการวินิจฉัยและยังทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดมากได้ ยกเว้นในรายที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยถ่ายเป็นเลือดจากโรคอื่น เช่น ริดสีดวงทวารหนักหรือมะเร็งที่ทวารหนัก เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน

แบ่งภาวะแทรกซ้อนออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1.ภาวะแทรกซ้อนจากโรค : ผู้ป่วยอาจมีแผลเรื้อรังจนเกิดเป็นติ่งเนื้อที่ปากทวารหนัก
2.ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาโดยการผ่าตัด : ประกอบด้วย

  • ปัสสาวะลำบากชั่วคราว
  • ปวดศีรษะชั่วคราว (ถ้าทำการลดปวดขณะผ่าตัด โดยการฉีดยาชาเข้าในไขสันหลัง)
  • อาจมีเลือดหรือน้ำเหลืองซึออกมจากแผลผ่าตัด ประมาณ 4 สัปดาห์จนกว่าแผลจะหาย

การรักษาและยา

การรักษาโรค : แบ่งตามระยะของโรค ได้เป็น 2 ระยะ คือ
1. ระยะเฉียบพลัน : เป็นช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการปวดมาก การรักษาประกอบด้วย

  • เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยมาก เช่น ผักและผลไม้ ร่วมกับดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ก้อนอุจจาระนิ่ม
  • ทำให้ผู้ป่วยถ่ายอุจจาระทุกวัน ไม่ให้เกิดอาการท้องผูก (ให้ยาระบายชนิดอ่อนถ้าท้องผูก) และไม่ให้มีอาการท้องเสีย (รักษาสาเหตุและอาการท้องเสีย)
  • หลังถ่ายให้ล้างด้วยน้ำสะอาด และให้นั่งแช่น้ำอุ่น เพื่อลดอาการปวดและบวมที่แผล
  • ให้ยาแก้ปวด แบบกิน, แบบทา หรือยาสอดเหน็บทวาร
  • โดยทั่วไปไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นกรณีที่แผลมีการอักเสบหรือเป็นหนองร่วมด้วย

อาการต่างๆ ของผู้ป่วย ควรจะดีขึ้นเรื่อยๆ และแผลควรหายภายในระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์

2. ระยะเรื้อรัง : การรักษาทำได้โดยการผ่าตัดคลายกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก (Partial internal sphincterotomy) ทำได้โดยการตัดกล้ามเนื้อหูรูดด้านในของทวารหนัก (internal sphincter) จากขอบล่างที่ปากทวารขึ้นไปเล็กน้อย เพื่อทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของทวารหนักคลายตัว ทำให้ผู้ป่วยถ่ายง่ายขึ้น ไม่เกิดอาการท้องผูก หลังการผ่าตัดมักไม่มีผลต่อการกลั้นอุจจาระมากนัก การรักษาด้วยการผ่าตัดไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย มีข้อบ่งชี้ คือ

  • แผลที่รักษาด้วยการรักษาทั่วไป 3 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น
  • แผลที่เป็นเรื้อรัง
  • แผลที่ปวดมาก

การป้องกันไม่ให้กลับเป็นโรคซ้ำอีก : คือ การป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องผูก ซึ่งทำได้โดยยึดหลักการดูแลสุขภาพทั่วไปดังนี้

  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
  • รับประทานอาการที่มีกากใยพอสมควร ได้แก่ ผักและผลไม้ เช่น กล้วย, ส้ม, สัปปะรด เป็นต้น
  • ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่เบ่งมากขณะขับถ่าย เนื่องจากการเบ่งมากจะทำให้เลือดคั่งบริเวณบริเวณทวารหนักทำให้เนื้อเยื่อปากทวารหนักบวมและยื่นออกมาได้
  • ออกกำลังกายอยู่เสมอ
  • นอนหลับผักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ระคายเคืองทางเดินอาหาร เช่น อาหารรสจัด, ชา, กาแฟ, เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ เป็นต้น

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย Ibuprofen, Paracetamol, mucillin, milk of magnesia, senokot

แหล่งอ้างอิง

1. ชาญวิทย์ ตันติ์พิพัฒน์ และ ธนิต วัชรพุกก์. ตำราศัลยศาสตร์. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 7. 2546.
2. ทวีสิน ตันประยูร, สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ และพัฒน์พงศ์ นาวีเจริญ, บรรณาธิการ. ตำราศัลยศาสตร์. กรุงเทพฯ : บริษัท ปรีชาธร อินเตอร์พริ้น จำกัด. พิมพ์ครั้งที่10. 2550.
3. Seymour I. Schwartz, M.D., editir. Principles of surgery. Seventh edition.1999.



26 กุมภาพันธ์ 2554 30 มีนาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย