ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 969
Small_font Large_font

เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดเส้น (Carpal Tunnel Syndrome)

คำจำกัดความ

เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดเส้น เป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากเส้นประสาทมีเดี่ยน (Median Nerve) ถูกกดทับจากสาเหตุต่างๆ เส้นประสาทมีเดี่ยนเป็นเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณแขนและมือ และรับความรู้สึกบริเวณฝ่ามือ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง จนถึงครึ่งหนึ่งของนิ้วนาง เส้นประสาทนี้จะเดินทางตั้งแต่บริเวณต้นคอจนถึงปลายนิ้วมือ ซึ่งบริเวณข้อมือนั้นจะต้องลอดช่องอุโมงค์ที่เรียกว่า คาร์เป้าทัลเน้ล Carpal Tunnel เมื่ออุโมงค์นี้แคบลงจากสาเหตุต่างๆ หรือพังผืดที่บริเวณอุโมงค์ข้อมือหนาตัวขึ้นจนไปกดทับเส้นประสาท หรือข้อมือได้รับแรงกดทับซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงทำให้เป็นที่มาของโรคนี้ อายุที่พบบ่อยคือประมาณ 35-40 ปี เพศหญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในหญิงวัยกลางคน

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวด ชา ร้อน ตั้งแต่บริเวณข้อมือจนถึงปลายนิ้ว ซึ่งมักมีอาการบริเวณนิ้วโป้ง, นิ้วชี้ และนิ้วกลาง ในบางรายอาจมีอาการได้ทั้งฝ่ามือและอาจจะปวดไปจนถึงไหล่ หรือรู้สึกเสียวคล้ายถูกไฟช๊อต

เริ่มแรกมักจะมีอาการชาตอนกลางคืน ถ้าสะบัดข้อมืออาการจะดีขึ้น ต่อมาอาการชาจะเป็นมากและบ่อยขึ้น จนกระทั่งชาเกือบตลอดเวลา

กลุ่มอาการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น อาจจะเกิดขึ้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเกิดหลายอย่างร่วมกันก็ได้ บางรายไม่มีอาการขณะอยู่เฉยๆ แต่จะรู้สึกถึงอาการดังกล่าวได้เมื่อทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การขับรถ การทำงานบ้าน การนั่งดูทีวี หรือ การอ่านหนังสือ เป็นต้น
อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานในลักษณะการเกร็งอยู่นานๆ ได้แก่ การจับมีด, กรรไกร, งานที่ต้องใช้ค้อนหรือใช้เครื่องมือที่มีแรงสั่นสะเทือนตั้งแต่เครื่องเป่าผม จนถึงเครื่องเจาะกระแทกคอนกรีต และอาการมักจะเกิดขึ้นบ่อยในตอนกลางคืน ถ้าเส้นประสาทมีเดี่ยนยิ่งถูกกดทับมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เกิดอาการอ่อนแรงของมือ, การหยิบจับสิ่งของลำบากทำให้บางครั้งถือของแล้วของหล่นบ่อยๆ และ อาการจะรุนแรงถึงขั้นปวดร้าวไปทั้งแขน ตลอดจนทำให้กล้ามเนื้อบริเวณฝ่ามือลีบเล็ก ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของมือลดลงตามไปด้วย

สาเหตุ

  1. การใช้งานข้อมือในท่าเดิมๆ เช่น คนที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ซึ่งต้องใช้เมาส์โดยใช้ข้อมือเป็นจุดหมุน การกดแป้นคีย์บอร์ด การเย็บผ้า และ การถักนิตติ้ง เป็นต้น
  2. การใช้ข้อมือที่มีการงอมือเป็นเวลานาน เช่น การกวาดบ้านนานๆ, การรีดผ้า, การหิ้วถุงที่มีการงอข้อมือ เป็นต้น
  3. การทำงานที่มีการใช้ข้อมือกระดกขึ้นและการสั่นกระแทก เช่น ช่างฝีมือประเภทต่างๆ, พนักงานโรงงาน, งานที่เกี่ยวกับการก่อสร้างหรืองานคอนกรีต เป็นต้น
  4. คนที่มีโรคประจำตัวที่มีผลต่อปลายประสาท เช่น เบาหวาน, โรคข้อรูมาตอยด์, ไทรอยด์, โรคข้ออักเสบในหญิงตั้งครรภ์ระยะใกล้คลอด, ภาวะบวมน้ำจากโรคไตและตับ เป็นต้น
  5. การที่พังผืดบริเวณอุโมงค์คาร์เป้าทัลเน้ล หนาตัวมากขึ้น สาเหตุมาจากสภาพร่างกายที่มีอายุมากขึ้น
  6. ลักษณะของโครงสร้างของข้อมือที่ผิดปกติ
  7. เกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้บาดเจ็บหรือกระดูกหักบริเวณข้อมือ เช่น การหกล้ม รถชน เป็นต้น
  8. เยื่อหุ้มรอบเส้นเอ็นบริเวณอุโมงค์คาร์เป้าทัลเน้ล หนาตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้มีความดันสูงขึ้น โดยพังผืดไม่จำเป็นต้องหนาขึ้นก็ได้

การวินิจฉัย

อาศัยประวัติ อาการและอาการแสดงข้างต้น สำหรับการวินิจฉัย โดยแพทย์อาจตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ประกอบด้วย การตรวจที่เรียกว่า

  1. ฟาเร้น เทสท์ (Phalen test) โดยการให้ผู้ป่วยงอข้อมือประมาณ 90 องศา ขณะที่ข้อศอกวางตั้งตรงบนโต๊ะตรวจ แล้วดูว่ามีอาการปวดเช่นเดียวกับอาการปวดที่ผู้ป่วยมีอยู่เดิมหรือไม่ หากมีอาการปวดหรือเจ็บแปล๊บร้าวตามเส้นประสาทภายในเวลา 60 วินาที แสดงถึงผู้ป่วยน่าจะมีภาวะเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดเส้น
  2. ทีเน้ล เทสท์ (Tinel test) โดยการใช้นิ้วของแพทย์เคาะไปที่บริเวณอุโมงค์บริเวณข้อมือเพื่อดูว่าผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวตามเส้นประสาทหรือไม่ หากมีอาการดังกล่าว แสดงถึงผู้ป่วยน่าจะมีภาวะเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดเส้น
  3. การตรวจด้วยไฟฟ้าวินิจฉัย (Electrodiagnosis)ซึ่งเป็นการตรวจที่สามารถยืนยันการวินิจฉัย และใช้แยกโรคบางอย่างที่มีอาการคล้ายๆ กัน เช่น โรคกระดูกต้นคอทับเส้นประสาท, การกดทับเส้นประสาทมีเดี่ยน ที่บริเวณอื่น, การกดทับของเส้นประสาทอื่นๆ และ ภาวะปวดจากกล้ามเนื้อ ฯลฯ และยังสามารถช่วยติดตามผลของการรักษา

ภาวะแทรกซ้อน

หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิด ความพิการของกล้ามเนื้อมือ ทำให้กล้ามเนื้อฝ่ามือก็จะลีบลง ทำงานได้น้อยลง มืออ่อนแอ และ มีอาการผิดรูปหรือพิการได้

การรักษาและยา

  1. การรักษาแบบเบื้องต้นแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่
    • หากเกิดอาการชาเพียงอย่างเดียว แพทย์มักจะแนะนำให้ปรับท่าทางการใช้มือ ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการออกแรงของมือ หรือ หลีกเลี่ยงการใช้งานมือนั้นสักพักหนึ่ง เพื่อให้มืออยู่ในท่าปกติ เป็นการช่วยลดอาการบวมของอุโมงค์บริเวณข้อมือ และ ลดความกดดันที่เกิดกับบริเวณเส้นประสาทลง รวมทั้งให้รับประทานยาแก้อักเสบ
    • หากมีอาการชามากขึ้นและมีการปวดร่วมด้วย แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาควบคู่ไปกับการใส่เฝือกพยุงข้อมือ เพื่อให้ข้อมืออยู่นิ่งๆ ตรงๆ จะมีความดันในโพรงข้อมือต่ำสุด ซึ่งจะทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงประสาทดีขึ้น หากพังผืดยังไม่หนามาก จะได้ผลค่อนข้างดี
    • ถ้ามีอาการชาและมีอาการปวดมาก แพทย์จะฉีดยาแก้อักเสบ (เป็นยาชาผสมกับยาสเตียรอยด์) ที่โพรงข้อมือร่วมกับการรับประทานยา แต่ถ้าหากว่าไม่ได้ผลก็ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อไป การฉีดยาแบบนี้ส่วนใหญ่แพทย์จะไม่แนะนำให้ฉีดเกิน 3 ครั้ง เนื่องจากเป็นสารพวกสเตียรอยด์ อาจมีผลเสียได้ถ้าฉีดมากเกินไป
  2. การรักษาโดยการผ่าตัด
    • การผ่าตัดแบบเปิด แพทย์จะทำการผ่าตั้งแต่ข้อมือถึงฝ่ามือ ซึ่งแผลจะยาวประมาณ 5 – 6 ซม. เพื่อเอาตัวพังผืดออกมาทำให้เส้นประสาทไม่ถูกกดทับ หลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดแผล มือบวม ต้องใช้เวลาประมาณ 2 – 3 อาทิตย์ แผลจึงจะหายพอที่จะทำงานเบา ๆ ได้ และจะกลับมาเป็นปกติประมาณ3 เดือน
    • การผ่าตัดแบบเปิดแผลจำกัด วิธีนี้จะเปิดแผลประมาณ 1.5 ซม. ที่ฝ่ามือ และสามารถตัดพังผืดออกได้เช่นเดียวกับวิธีแรก แต่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษในการตัด วิธีนี้จะมีแผลที่เล็กกว่า ผู้ป่วยกลับไปทำงานได้เร็วขึ้น
    • การผ่าตัดผ่านกล้อง เป็นการผ่าตัดภายใต้กล้องส่องซึ่งจะแสดงภาพอวัยวะภายในบริเวณข้อมือทางจอภาพ แพทย์จะดูทางจอภาพและตัดพังผืดโดยใช้ใบมีดที่อยู่ปลายเครื่องมือ ซึ่งวิธีนี้ไม่ต้องผ่าตัดผ่านผิวหนังและกล้ามเนื้อของข้อมือเลย ผู้ป่วยจึงสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้หลังจากผ่าตัดประมาณ 3 วัน และสามารถไปทำงานได้ภายใน 7 วัน เนื่องจากแผลมีขนาดเล็กมากและหายเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิด เมื่อแผลหายสนิทดีแล้วรอยแผลจะหายไปในรอยพับของข้อมือ

การป้องกัน

  1. หลีกเลี่ยงการใช้งานที่เป็นอันตรายต่อข้อมือ หรือ ลดการใช้งานข้อมือท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ
  2. หากต้องทำงานที่มีการกระแทกโดยตรงบริเวณข้อมือ ควรใช้อุปกรณ์ช่วยลดการกระแทกนั้น
  3. คนที่มีโรคประจำตัวที่มีผลต่อปลายประสาท ควรติดตามอาการและควบคุมอย่างใกล้ชิด
  4. การออกกำลังกายข้อมืออย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อต่างๆ มีความแข็งแรง
  5. หากเริ่มมีอาการมือชา หรือมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์

แหล่งอ้างอิง

  1. www.mayoclinic.com
  2. วิวัฒน์ วจนะวิศิษฐ์ , วิเชียร เลาหเจริญสมบัติ , วิโรจน์ กวินวงศ์โกวิท และพรชัย มูลพฤกษ์. ออร์โธปิดิกส์.กรุงเทพฯ : บริษัทโฮลิสติก พับลิชชิ่ง จำกัด. พิมพ์ครั้งที่ 2. 2547.


17 กรกฎาคม 2553 25 กรกฎาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย