ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 369
Small_font Large_font

เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)

คำจำกัดความ

การอักเสบของเยื่อหุ้มสมองและน้ำไขสันหลังที่อยู่รอบสมองและไขสันหลัง ส่วนมากจะเกิดจากการติดเชื้อ

อาการ

มักมีอาการไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนมาก และคอแข็ง (คอแอ่นไปข้างหลัง และก้มไม่ลง) ผู้ป่วยมักจะบ่นปวดทั่วศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลามีการเคลื่อนไหวของศีรษะ (เช่น ก้มศีรษะ) ซึ่งมักจะปวดติดต่อกันหลายวัน กินยาแก้ปวดไม่ทุเลา ส่วนอาการไข้ อาจมีลักษณะไข้สูงตลอดเวลา หรือไข้เป็นพักๆ ถ้าเกิดจากพยาธิอาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ก็ได้ ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย สับสน ซึมลงเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดสติ นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการกลัวแสง เห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก แขนขาเป็นอัมพาต หรือชักติดต่อกันนานๆ ในเด็กอายุต่ำกว่า ๒ ขวบ อาการอาจไม่ค่อยชัดเจน อาจมีไข้ กระสับกระส่าย ร้องไห้เสียงแหลม อาเจียน ชัก กระหม่อมหน้าโป่งตึง อาจไม่มีอาการคอแข็ง

สาเหตุ

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากไวรัส รองลงมาเป็นแบคทีเรียและเชื้อราตามลำดับ

  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย จะเกิดเมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้ากระแสเลือดและเดดินทางไปสู่สมองและไขสันหลัง และแบคทีเรียจะเคลื่อนที่ทะลุเยื่อหุ้มสมองไปได้ เชื้อที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ได้แก่ Streptococcus pneumonia, Neisseria meningitides, Haemophilus influenzae
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส หากติดเชื้อไวรัสจะสามารถหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์ และเป็นไม่รุนแรง เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ได้แก่ Enteroviruses
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา จะพบไม่มาก เชื้อราที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ Cryptococcus และมักจะเป็นในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • สาเหตุอื่น เช่น เกิดจากการแพ้ยา มะเร็ง เอสแอลอี พยาธิพี่พบบ่อยในประเทศไทยคือพยาธิตัวจี๊ดและพยาธิแองจิโอ(Angiostrongylus canthonensis) เป็นต้น

การวินิจฉัย

ซักประวัติพบว่ามีอาการ ไข้ ปวดศรีษะ อาเจียนมาก หรืออาการร่วมอื่นเช่นกลัวแสง ซึม ชักเป็นต้น
ตรวจร่างกาย พบอาการคอแข็ง หรืออาการทางระบบประสาทอื่นร่วม
สืบค้นทางห้องปฏิบัติการ

  • ตรวจน้ำไขสันหลัง เพื่อมาหาปริมาณน้ำตาล ปริมาณเม็ดเลือดขาว โปรตีนในน้ำไขสันหลัง และตรวจหาเชื้อที่ทำให้เกิดโรค
  • เอกเรย์หรือการเพาะเชื้อในช่องคอเพื่อหาสาเหตุของแหล่งกำเนิดเชื้อ เช่นการติดเชื้อคออักเสบหรือไซนัส
  • CT scan เพื่อหาตำแหน่งที่ติดเชื้อ และดูการบวมของกะโหลกหรือโพรงต่างๆ

ภาวะแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื้อวัณโรค, เชื้อเมนิงโกค็อกคัส) เชื้อราและพยาธิภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น แขนขาเป็นอัมพาต หูหนวก ตาเหล่ ปากเบี้ยว โรคลมชักสมองพิการ ปํญญาอ่อน น้ำคั่งในสมองหรือไฮโดรเซฟาลัส ฝีในสมอง เป็นต้น การดูแลตนเอง ผู้ป่วยที่มีอาการชักทุกคน ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามี ไข้สูง ซึม หมดสติ คอแข็งร่วมด้วย ยกเว้นเด็ก (อายุ ๖ เดือน ถึง ๕ ขวบ) ที่เคยมีประวัติชักจากไข้มาก่อน และคราวนี้ก็มีอาการชักจากไข้คล้ายๆ กัน ก่อนพบแพทย์ก็อาจให้การปฐมพยาบาล กินยาลดไข้ และยากันชักตามคำแนะนำของแพทย์

การรักษาและยา

เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นเยื่อหุ้ม สมองอักเสบ จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น
ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่พบ
ถ้าเกิดจากเชื้อวัณโรค จะให้ยาฆ่าเชื้อวัณโรค นาน ๖-๙ เดือน
ถ้าเกิดจากเชื้อรา จะให้ยาฆ่าเชื้อรา
ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาจำเพาะ จะให้การรักษาตามอาการ ซึ่งมักจะดีขึ้นภายใน ๒-๓ สัปดาห์
การป้องกัน
๑. ป้องกันไม่ให้เป็นวัณโรค โดยการฉีดวัคซีน บีซีจีตั้งแต่แรกเกิด
๒. ป้องกันไม่ให้เป็นโรคพยาธิแองจิโอสตรอง-ไจลัส โดยการไม่กินหอยโข่งดิบ
๓. ถ้าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ ควรรักษาอย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้เป็น เรื้อรังจนเชื้อเข้าสมอง
๔. ในกรณีที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่น ควรป้องกันไม่ให้เป็นโรคโดยการกินยาปฏิชีวนะ ได้แก่ ไรแฟมพิซิน

แหล่งอ้างอิง

Mayo Clinic staff. Meningitis. [Online]. 2008 April 08 [cited 2010 May 09];Available from: URL:
http://www.mayoclinic.com/health/meningitis/DS00118



27 พฤษภาคม 2553 05 สิงหาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย