ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ

อ่าน: 261
Small_font Large_font

กลุ่มอาการโรคไตเนโฟตริก (Nephrotic syndrome)

คำจำกัดความ

ภาวะที่มีความผิดปกติของไตที่มีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะจำนวนมาก ทำให้มีโปรตีนในเลือดต่ำ
ปกติที่หน่วยกรองของไต จะมีเส้นเลือดคอยกรองน้ำและของเสียออกจากร่างกายทางปัสสาวะ และเอาโปรตีนจากปัสสาวะกลับเข้ามาอยู่ในร่างกาย ไม่ให้เสียไปทางปัสสาวะ แต่โรคนี้มีความผิดปกติของเส้นเลือดที่ไตเหล่านี้ ทำให้โปรตีนรั่วออกจากร่างกายได้มาก ทำให้โปรตีนในเลือดต่ำ ปกติโปรตีนในเลือดเหล่านี้ ทำหน้าที่ช่วยดึงน้ำไว้ให้อยู่ในเส้นเลือด ดังนั้นในผู้ป่วยโรคนี้ที่มีโปรตีนในเลือดต่ำ จึงส่งผลให้ไม่สามารถดึงน้ำไว้ในเส้นเลือดได้ตามปกติ น้ำจึงรั่วออกมาจากเส้นเลือด ออกมาอยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการบวมเกิดขึ้น กลุ่มอาการโรคไตนี้ พบได้ทุกแห่งทั่วโลก, ในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 2 เท่า และพบได้ในคนทุกอายุ แต่พบมากในเด็กวัยก่อนเรียน (อายุ 2 – 3 ปี) ถ้าอายุมากกว่า 8 ปีแล้วจะพบได้ค่อนข้างน้อย

อาการ

**ปัสสาวะมีฟองมากผิดปกติ (สังเกตได้จากการใช้น้ำปริมาณมากกว่าปกติราด กว่าปัสสาวะจะหมดฟอง) : เกิดจากการมีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ **อาการบวม : ผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการบวมทั้งตัว คือ บวมแบบกดบุ๋มตามหน้าขา, หนังตาบวมทั้งสองข้าง, มีน้ำในช่องท้องและช่องเยื่อหุ้มปอด, มีแคมใหญ่หรืออัณฑะบวม โดยอาการบวมมักจะเป็นมากเวลาตื่นนอนตอนเช้า เวลาสายๆ อาการบวมจะลดลง **น้ำหนักมากขึ้น โดยอาจเพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 50 ของน้ำหนักตัวปกติ

สาเหตุ

Nephrotic syndrome มักเกิดจากการทำลายกลุ่มของหลอดเลือดเล็ก(glomeruli)ในไต ซึ่งglomeruliทำหน้าที่กรองเลือดที่ผ่านเข้ามาในไตเพื่อแยกสิ่งที่ร่างกายต้องการและของเสียเพื่อขับออก สำหรับคนสุขภาพดีทั่วไป glomeruli จะทำหน้าที่เก็บโปรตีน (ตัวหลักคืออัลบูมิน) ซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาระดับของเหลวในร่างกายให้เป็นปกติ เมื่อglomeruliถูกทำลาย ทำให้ร่างกายสูญเสียโปรตีนในกระแสเลือดออกมากับปัสสาวะ นำไปสู่ภาวะ Nephrotic syndrome
1. ความผิดปกติที่ไต (primary renal cause) ซึ่งอาจเป็นมาแต่กำเนิดหรือไม่ทราบสาเหตุ : พบประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วย โดยอยู่ในกลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ ประมาณร้อยละ 70-80
2. เกิดร่วมกับโรคระบบอื่นๆ (secondary nephritic syndrome) : พบประมาณร้อยละ 10 เช่น
2.1 พบร่วมกับเบาหวาน (เป็นโรคเบาหวานลงไต ; Diabetic nephropathy)
2.2 โรคภูมิแพ้ตนเอง(เอสแอลอี ; SLE )
2.3 โรคปวดข้อรูมาตอยด์
2.4 โรคครรภ์เป็นพิษ หรือความดันโลหิตสูงรุนแรง
2.5 โรคเรื้อน
2.6 ซิฟิลิส
2.7 มาลาเรีย
2.8 ตับอักเสบจากไวรัสบีหรือซี
2.9 การติดเชื้อเอชไอวี
2.10 มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว
2.11 แพ้พิษงูหรือผึ้งต่อย
2.12 แพ้สารหรือยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตแคปโทพริล (Captopril), ยารักษาวัณโรคไรแฟมพิซิน(Ripampicin), ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSAIDs)

การวินิจฉัย

1. การตรวจปัสสาวะ : จะพบ **มีโปรตีนในปัสสาวะ : เป็นสิ่งตรวจพบที่สำคัญที่สุดในกลุ่มอาการโรคไต โดยถ้าใช้แถบกระดาษตรวจจุ่มลงในปัสสาวะ จะพบปัสสาวะมีอัลบูมิน 3+ ถึง 4+ หรือถ้าเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมงมาตรวจจะพบโปรตีนมากกว่า 3.5 กรัม/วัน **การตรวจหา sediment เชื้อโรค เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง เซลล์บุ tubule, oval fat body , macrophage , hyaline cast , cellular cast , broad cast
2. การตรวจเลือด : จะพบ **มีอัลบูมินในกระแสเลือดต่ำกว่า 2.5 กรัม/เดซิลิตร **มีระดับโคเลสเตอรอลในพลาสมาสูงกว่าปกติ คือ มากกว่า 220 มิลลิกรัม /เดซิลิตร **ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะไตวายเฉียบพลันร่วมด้วย
3. การตรวจหาภาวะติดเชื้อก่อนเริ่มให้ยาสเตียรอยด์ : ประกอบด้วย

  • การสะกิดที่ผิวหนังเพื่อหาการติดเชื้อวัณโรค (Tuberculin skin test)
**X-ray ทรวงอก เพื่อหาการติดเชื้อวัณโรค **ตรวจอุจจาระเพื่อหาการติดเชื้อพยาธิ
4. การนำชิ้นเนื้อจากไตมาตรวจทางพยาธิวิทยา (Kidney biopsy) : เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค ไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย ยกเว้นไม่มั่นใจในการวินิจฉัยหรือต้องการหาสาเหตุของโรคทางกายที่เกิดร่วมกับกลุ่มอาการทางไตนี้

ภาวะแทรกซ้อน

**การติดเชื้อ (infection) : พบได้บ่อย เป็นผลมาจากการสูญเสียโปรตีนไปในปัสสาวะอย่างมาก โปรตีนตัวหนึ่งที่สูญเสียไป คือโปรตีนที่ทำหน้าที่ต่อต้านกับเชื้อโรค (immunoglobulin) ทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำลง จึงติดเชื้อง่ายขึ้น **การขาดสารอาหารกลุ่มโปรตีน (protein malnutrition) : เกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียโปรตีนทางปัสสาวะไปอย่างมากและเป็นเวลานาน โดยการขับโปรตีนออกทางปัสสาวะผันแปรไปกับอาหารโปรตีนที่รับประทาน คือ หากผู้ป่วยได้รับอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้นและได้แคลอรี่เพียงพอ ตับจะสังเคราะห์โปรตีนได้มากขึ้น แต่ก็จะตามมาด้วยการมีการเผาผลาญโปรตีนมากขึ้นและมีการขับโปรตีนออกทางปัสสาวะมากขึ้นด้วย ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มอาการโรคไตที่มีการทำงานของไตปกติ ควรได้รับอาหารโปรตีนที่มีคุณค่าทางชีวภาพสูง ขนาด 1 กรัม/กิโลกรัม/วัน ร่วมกับให้แคลอรี่ให้เพียงพอ **การเจริญเติบโตหยุดชะงัก (impaired growth) : อาจเกิดได้ในกรณีที่ไม่ได้รับการรักษา สำหรับเด็กที่หายจากโรคแล้วหรือโรคสงบเป็นเวลานาน การเจริญเติบโตจะกลับมาเท่าเด็กปกติได้ **ภาวะการแข็งตัวของเลือดสูงผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มอาการโรคไตมีแนวโน้มในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดได้บ่อย **มีไขมันโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง **มีความดันโลหิตสูง เกิดจากหน่วยกรองของไตที่เสีย ทำให้ร่างกายขับของเสียและออกได้น้อยกว่าปกติ ส่งผลให้น้ำส่วนเกินคั่งในร่างกาย และทำให้ความดันโลหิตสูงตามมา **ภาวะไตวายเฉียบพลัน : เกิดจากไตสูญเสียหน้าที่ในการกรองของเสียออกจากร่างกาย ทำให้มีของเสียคั่งในร่างกายอย่างเฉียบพลัน ซึ่งภาวะนี้ต้องการการล้างไตฉุกเฉิน เพื่อขับน้ำส่วนเกินและของเสียออกจากร่างกาย **ภาวะไตวายเรื้อรัง : กลุ่มอาการโรคไตทำให้ไตเสียหน้าที่อย่างช้าๆ จนหน้าที่ของไตต่ำถึงระดับที่ไม่สามารถขับของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายได้ จึงต้องการการฟอกไตจากเครื่องฟอกไต ช่วยทำหน้าที่กำจัดน้ำและของเสียออกจากร่างกายแทนไตตลอดชีวิต

การรักษาและยา

โดยทั่วไปสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ การรับไว้รักษาในโรงพยาบาลไม่มีความจำเป็นและควรหลีกเลี่ยง ถ้าหากอาการไม่รุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนหรือมีปัญหาในการรักษา ยกเว้นแต่รายที่บ้านอยู่ไกล ทำให้ติดตามผลการรักษายาก, รายที่ไม่แน่ใจว่ารับประทานยาได้สม่ำเสมอ, รายที่ต้องการรักษาด้วยยาตัวอื่นร่วม ต้องการการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด
หลักการสำคัญในการให้การรักษา มีดังนี้ **การรักษาเฉพาะ : เป็นการให้ยากดภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะยาสเตียรอยด์ เพื่อช่วยให้โรคสงบ โดยพบว่าเมื่อรักษาด้วยยาสเตียรอยด์แบบกินติดต่อกันไป 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นร้อยละ 90 หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดขนาดยาลงช้าๆ จนสามารถหยุดยาได้ในที่สุด
ในขณะที่อีกร้อยละ 10 ที่เหลือ ที่อาการไม่ดีขึ้นหลังได้ยาสเตียรอยด์ แพทย์จะพิจารณาให้ยากดภูมิคุ้มกันตัวใหม่ที่มีฤทธิ์แรงกว่ายาสเตียรอยด์ **การรักษาประคับประคองตามอาการ (symptomatic and supportive treatments) : – การรักษาตามอาการบวม : ส่วนมากไม่จำเป็นต้องให้ยาขับปัสสาวะ นอกจากรายที่มีอาการบวมมาก, หายใจลำบาก, อึดอัด นอนราบไม่ได้ และอวัยวะเพศบวมจนถ่ายปัสสาวะลำบาก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องลดอาการบวมด้วยยาขับปัสสาวะ ซึ่งต้องให้ด้วยความระมัดระวัง เพราะยาขับปัสสาวะที่มีประสิทธิภาพสูงจะทำให้ปริมาตรของน้ำในหลอดเลือดลดลง จนเป็นสาเหตุของภาวะไขมันในเลือดสูงขึ้นอย่างเร็ว, เลือดแข็งตัวง่ายขึ้น และเกิดภาวะช็อคจากปริมาตรน้ำที่ลดลงได้ – การรักษาความดันโลหิตสูง : ความดันโลหิตสูงในโรคนี้มักเป็นแค่ชั่วคราวและสูงไม่มาก ส่วนใหญ่สามารถรักษาด้วยการให้นอนพัก ร่วมกับการจำกัดเกลือและน้ำ ถ้าความดันโลหิตยังไม่ลด ค่อยให้ยาขับปัสสาวะที่ออกฤทธิ์อ่อน – การรักษาภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะการติดเชื้อ เพื่อให้การตอบสนองต่อยาสเตียรอยด์ดีขึ้นและเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะติดเชื้อรุนแรงแพร่กระจายจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย – การให้วัคซีนป้องกันโรค : วัคซีนบางชนิดทำจากเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่แต่อ่อนฤทธิ์ลง จึงไม่ทำให้เกิดโรคในคนปกติ แต่ขณะที่ผู้ป่วยกินยาสเตียรอยด์ จะทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคต่ำ ดังนั้นการให้วัคซีนเหล่านี้อาจเกิดการติดเชื้อได้ ดังนั้นจึงแนะนำว่าการจะรับวัคซีนต่อไปนี้ ควรทำในระยะสงบของโรคและหยุดยาสเตียรอยด์แล้ว เช่น วัคซีนโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก, วัคซีนไข้ไขสันหลังอักเสบ, วัคซีนหัด คางทูม และหัดเยอรมัน

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย prednisolone

แหล่งอ้างอิง

  1. Nephrotic syndrome in adults. National Institute for Diabetes and Digestive and Kidney Diseases. http://kidney.niddk.nih.gov/kudiseases/pubs/nephrotic/index.htm. Accessed Oct. 15, 2009.
  2. Nephrotic syndrome. National Kidney Foundation. http://www.kidney.org/atoz/content/nephrotic.cfm. Accessed Oct. 15, 2009.
  3. Childhood nephrotic syndrome. National Institute for Diabetes and Digestive and Kidney Diseases. http://kidney.niddk.nih.gov/kudiseases/pubs/childkidneydiseases/nephrotic_syndrom/index.htm. Accessed Oct. 15, 2009.
  4. Hull RP, et al. Nephrotic syndrome in adults. BMJ. 2008;336:1185.
  5. Ferri FF. Nephrotic syndrome. In: Ferri FF. Ferri’s Clinical Advisor 2010. Philadelphia, Pa.: Mosby; 2009.
  6. WWW.mayoclinic.com


27 พฤษภาคม 2553 25 กรกฎาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย