อ่าน: 4773
Small_font Large_font

Cimetidine (ไซเมทิดีน )

คำอธิบายพอสังเขป

ไซเมทิดีน (cimetidine) เป็นยาต้านตัวรับฮิสตามีนชนิดที่ 2 หรือเรียกว่า ยาปิดกั้นตัวรับฮิสตามีนชนิดที่ 2 (H2-blockers) ใช้สำหรับรักษาแผลในลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัม (duodenal ulcer) และใช้สำหรับป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ใช้สำหรับรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (gastric ulcer) และใช้สำหรับบางสภาวะ เช่น Zollinger-Ellison disease ซึ่งเกิดจากการที่กระเพาะสร้างกรดมากเกินไป

ไซเมทิดีน (cimetidine) อาจใช้สำหรับบรรเทาอาการและหรือป้องกันการแสบยอดอก (heartburn), การย่อยอาหารไม่ดีเนื่องจากมีกรดมาก (acid indigestion)

ไซเมทิดีน (cimetidine) อาจใช้สำหรับรักษาสภาวะอื่นๆ ตามที่แพทย์สั่ง ไซเมทิดีน (cimetidine) ออกฤทธิ์โดยลดการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาไซเมททิดีน (cimetidine), แฟโมทิดีน (famotidine), ไนซาทิดีน (nizatidine) หรือรานิทิดีน (ranitidine) หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร สารกันเสียหรือสี เป็นต้น

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'B' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาไม่มีความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์ หรือ จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายามีความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่พบผลดังกล่าวจากการศึกษาในมนุษย์ ดังนั้น ยาที่จัดอยู่ในประเภทนี้สามารถใช้ในสตรีมีครรภ์ได้ค่อนข้างปลอดภัย

ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาในหญิงมีครรภ์ มีการศึกษาในหนูของการใช้ไซเมททิดีน (cimetidine) อาจมีผลต่อพัฒนาการทางเพศของเพศชายซึ่งยังต้องอาศัยการศึกษาอีกหลายการศึกษามายืนยันผลนี้ รวมทั้งการศึกษาในกระต่ายโดยใช้ขนาดยาในการทดลองที่สูงมากพบว่า ดังนั้นหากท่านกำลังมีครรภ์หรือวางแผนจะมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ไซเมททิดีน (cimetidine)

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3

กำลังให้นมบุตร

ไซเมททิดีน (cimetidine) ผ่านสู่น้ำนมได้ ทำให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหารและเพิ่มความตื่นเต้นในเด็กที่ดื่มนมแม่ที่ใช้ยานี้ อาจมีความจำเป็นที่จะเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นหรือหยุดให้น้ำนมชั่วคราว ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากท่านต้องการให้นมบุตรและกำลังจะใช้ยานี้

เด็ก

เคยมีการทดลองใช้ยานี้ในเด็กและในขนาดที่ให้ผลในการรักษา พบว่าไม่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือปัญหาใดๆ ที่แตกต่างจากการใช้ในผู้ใหญ่เมื่อใช้ในระยะเวลาสั้นๆ

ผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุจะไวต่อฤทธิ์ของไซเมททิดีน (cimetidine) จึงอาจเกิดอาการสับสนหรือวิงเวียนศีรษะ

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อท่านจะใช้ไซเมททิดีน (cimetidine) ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ด้วยหากท่านใช้ยาต่อไปนี้อยู่

  • แอมิโนฟิลลิน (aminophylline)
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants)
  • คาเฟอีน (caffeine)
  • เมโทโพรลอล (metoprolol)
  • ออกทริฟิลลีน (oxtriphylline)
  • เฟนิทอยน์ (phenytoin)
  • โพรพาโนลอล (propanolol)
  • ทีโอฟิลลีน (theophylline)
  • ยาต้านซึมเศร้าที่มีโครงสร้างเป็นไตรไซคลิก (tricyclic antidepressant) การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับไซเมททิดีน (cimetidine) จะเพิ่มผลของไซเมททิดีน (cimetidine) ผลนี้เกิดได้น้อยในรานิทิดีน (ranitidine) และไม่เกิดในแฟโมทิดีน (famotidine), ไนซาทิดีน (nizatidine) อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มนี้คล้ายคลึงกันมาก ดังนั้นการเกิดปฏิกิริยาระหว่างกันของยาอาจเกิดได้ในยาใดก็ได้ในกลุ่มนี้
  • อิทราโคนาโซล (itraconazole)
  • คีโทโคนาโซล (ketoconazole)
  • ไซเมททิดีน (cimetidine) อาจลดผลของอิทราโคนาโซล (itraconazole) และคีโทโคนาโซล (ketoconazole) ได้ ดังนั้นควรรับประทานไซเมททิดีน (cimetidine) หลังจากรับประทานยาสองตัวนี้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาการเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ไซเมททิดีน (cimetidine) ท่านควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านมีสภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย

  • โรคไต
  • โรคตับ อาจทำให้ไซเมททิดีน (cimetidine) ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง การใช้ไซเมททิดีน (cimetidine) ทำให้กรดในกระเพาะอาหารลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อบางชนิด

การใช้ที่ถูกต้อง

สำหรับผู้ป่วยที่ซื้อยารับประทานเองเพื่อรักษาอาการแสบยอดอก, กรดในกระเพาะอาหารมาก, อาหารไม่ย่อยเนื่องจากกรด

  • ห้ามรับประทานยาในขนาดสูงสุดต่อวันเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ยกเว้นแพทย์สั่ง
  • หากท่านรู้สึกกลืนลำบากหรือปวดท้องเป็นเวลานาน ควรไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการเหล่านี้บ่งบอกว่าท่านมีอาการรุนแรงควรได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่น

สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาตามแพทย์สั่ง

  • รับประทานยาวันละครั้ง ควรรับประทานยาตอนก่อนนอนหรือตามที่แพทย์ระบุ
  • รับประทานยาวันละ 2 ครั้ง ควรรับประทานยาในมื้อเช้าและก่อนนอน
  • รับประทานยาวันละหลายครั้ง ควรรับประทานยาพร้อมมื้ออาหารและก่อนนอน

การรับประทานยานี้จะใช้เวลาหลายวันกว่าจะรู้สึกว่าอาการปวดท้องบรรเทาลง การรับประทานยาลดกรดร่วมกับยานี้จะยิ่งช่วยในการบรรเทาอาการปวดท้องได้ แต่หากแพทย์ไม่ได้สั่งให้ใช้ร่วมกันท่านก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาลดกรดร่วมด้วย อย่างไรก็ตามหากท่านต้องรับประทานยาสองตัวนี้ร่วมกันควรรับประทานให้ห่างกัน ½-1 ชั่วโมง

ควรรับประทานยานี้ให้ครบระยะเวลาที่แพทย์สั่งแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม รวมทั้งควรไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการและแพทย์จะบอกท่านเองว่าจะหยุดยาได้เมื่อไร

ขนาดยา

ขนาดยาของไซเมทิดีน (cimetidine) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ หรือ เภสัชกร หรือ ตามที่ระบุไว้บนฉลากยา

ขนาดยาของไซเมทิดีน (cimetidine) อาจแตกต่างกันในแต่ละเภสัชภัณฑ์ จำนวนของแคปซูลหรือยาเม็ดหรือจำนวนช้อนชาของยาที่รับประทานขึ้นอยู่กับความแรงของยา เช่น จำนวนครั้งของการใช้ยาในแต่ละวัน, ระยะห่างของการรับประทานยาในแต่ละครั้งและระยะเวลาที่ท่านใช้ยาขึ้นอยู่ว่าท่านกำลังรับประทานยานี้ในรูปแบบออกฤทธิ์นานหรือรูปแบบออกฤทธิ์สั้นและกับสภาวะของท่านที่ท่านต้องใช้ไซเมทิดีน (cimetidine)

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมรับประทานยา ควรรับประทานทันทีที่นึกได้ อย่างไรก็ตามหากใกล้ถึงมื้อต่อไปที่ต้องรับประทานยา ให้ข้ามมื้อนั้นไป แล้วรับประทานยาตามปกติ ห้ามเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่าเด็ดขาด

การเก็บรักษา

  • เก็บให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนและความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

ยานี้อาจรบกวนผลของการทดสอบบางอย่าง ควรบอกแพทย์ว่า กำลังใช้ยานี้อยู่ หากท่านต้องทำการทดสอบที่เกี่ยวกับการทดสอบการแพ้ทางผิวหนัง, การทดสอบใดๆที่เกี่ยวกับการหาปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร

ยาบางอย่าง เช่น แอสไพริน (aspirin) และอาหาร, เครื่องดื่มบางประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์จากมะนาว, เครื่องดื่มที่มีคาร์บอเนต เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะระคายเคืองกระเพาะอาหารและทำให้อาการของท่านยิ่งแย่ลง

การสูบบุหรี่จะลดผลของยานี้โดยการเพิ่มการหลั่งกรดจากกระเพาะอาหารมีผลมากในตอนกลางคืน ในขณะที่ท่านใช้ยานี้ควรหยุดสูบบุหรี่หรืออย่างน้อยงดสูบบุหรี่หลังการรับประทานยามื้อสุดท้ายของแต่ละวัน

การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในขณะใช้ยานี้เคยมีรายงานว่า จะทำให้มีปริมาณของแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดมากยิ่งขึ้น

หากท่านมีอาการปวดท้องอย่างต่อเนื่องหรืออาการยิ่งแย่ลง ควรไปพบแพทย์ทันที

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. ควรพบแพทย์ทันทีหากท่านมีอาการเหล่านี้

พบน้อยมาก

  • ปวดท้อง, หลัง, ขาและกระเพาะอาหาร, คลื่นไส้หรืออาเจียน, เบื่ออาหาร
  • มีเลือดออกหรือเจ็บที่ริมฝีปาก, ผิวหนังมีตุ่มน้ำใส แสบร้อน แดง หนาตัวขึ้นหรือตกสะเก็ด, มีตุ่มน้ำที่ฝ่ามือและหลังเท้า, ผิวหนังหลุดลอกเป็นสะเก็ด, เจ็บ มีแผลที่ริมฝีปาก ในปากหรือที่อวัยวะเพศ
  • การมองเห็นผิดปกติหรือตาพร่า, สับสน, ระคายเคืองตาหรือตาแดง
  • ไอหรือกลืนลำบาก
  • ปัสสาวะสีเข้มขึ้น, อุจจาระสีซีด, ตัวเหลืองตาเหลือง
  • วิงเวียนศีรษะ, เป็นลม, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, มีไข้และ/หรือสั่น, มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่, รู้สึกเหมือนไม่สบาย
  • มีผื่นลมพิษ,มีผื่นหรืออาการคันที่ผิวหนัง, หลอดเลือดแดงอักเสบ, ปวดข้อ
  • อารมณ์หรือจิตใจเปลี่ยนแปลงไปรวมทั้งภาวะวิตกกังวลใจ, สั่น, สับสน, ประสาทหลอน (การเห็นภาพ ได้ยินเสียงหรือรู้สึกถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง), ภาวะซึมเศร้า, กระสับกระส่ายหรือการป่วยทางจิตใจ, ปวดหรือเกร็งกล้ามเนื้อ
  • หัวใจเต้นช้า, เจ็บคอ, หน้า ริมฝีปาก ปาก ลิ้นหรือเปลือกตาบวม, มือหรือเท้าบวม, ต่อมน้ำเหลืองบวม
  • หายใจสั้น, แน่นหน้าอก, หายใจลำบากฉับพลัน, เลือดออกผิดปกติหรือเกิดจ้ำเลือด, อ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้ามากผิดปกติ, หายใจช้าผิดปกติหรือจังหวะการหายใจไม่สม่ำเสมอ, หายใจมีเสียงวี๊ด

ข. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาเนื่องจากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนานหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

พบน้อยหรือน้อยมาก

  • ท้องผูก, ท้องร่วง
  • สมรรถภาพทางเพศลดลง (โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรค Zollinger-Ellison Disease ซึ่งเกิดจากการที่กระเพาะอาหารสร้างกรดมากเกินไปและได้รับไซเมทิดีน (cimetidine) ในขนาดสูงเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี), ความต้องการทางเพศลดลง
  • ปัสสาวะลำบาก, ปัสสาวะมากขึ้นหรือน้อยลง
  • วิงเวียนศีรษะ, ง่วงซึม, นอนหลับยาก
  • ปากแห้ง, ผิวแห้ง, ปวดศีรษะ, เหงื่อออกมาก, น้ำมูกไหล
  • ผมร่วง
  • ได้ยินเสียงกริ่งในหู, เต้านมบวมหรือเจ็บเต้านมในเพศหญิงและชาย

อาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวเป็นอาการที่เคยมีรายงานจากการใช้ยานี้ ยาในกลุ่มยาปิดกั้นตัวรับฮิสตามีนชนิดที่ 2 (H2-blockers) มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ดังนั้นอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวอาจเกิดจากยาตัวใดก็ได้ในกลุ่มนี้

ค. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ข้อมูลเพิ่มเติม

ไซเมทิดีน (cimetidine) สามารถใช้ในการรักษาสภาวะต่อไปนี้ได้

  • เป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เนื่องจากความเครียดหรือการได้รับบาดเจ็บ
  • ผื่นลมพิษ
  • ปัญหาเกี่ยวกับตับอ่อน
  • แผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เนื่องจากยาที่ใช้ในการรักษาข้ออักเสบรูมาตอยด์

ข้อมูลการใช้ยานี้ในกรณีที่กล่าวไว้ข้างต้นยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างเหมาะสม ข้อควรระวังและอาการไม่พึงประสงค์สำหรับการใช้ในกรณีเหล่านี้

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Famotidine, Nizatidine, Ranitidine

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Alserine 400 (ออลเซอรีน 400), Cencamat tablets (เซนกาเมท เม็ด), Cencamat 400 tablets (เซนการเมท 400), Chintamet, Cidine 400 (ไซดีน 400), Cigamet 400 (ไซคาเมท 400), Cimet (ซัยเม็ท), Cimetin capsule (ซิเมติน แคปซูง), Cimetine (ไซเมทีน), Cimet - P 400 (ไซเมท - พี), Ciminpac 400, Citidine (400 MG.) (ไซทิดีน (400 มก.)), Duotric FC tablets 400 MG. (ดูโอตริด ฟิล์มโค๊ตชนิดเม็ด 400 มก.), Duotric FC tablets 200 MG. (ดูโอตริค ฟิล์มโค๊สชนิดเม็ด 200 มก.), G.I. tab, Gastasil (แก๊สตาซิล), Iwamet-400 (ไอวาเมท-400), K.B. Cymedin tablets, Lakamed (ลากาเมท), Manomet - 400, Milamet (มิลาเม็ท), Peptidine 400 (เปปติดีน 400), Promet - 200 (โปรเมท - 200), Promet - 400 (โปรเมท - 400), Sertidine, Setard, Shintamet, Simaglen, Sincimet 200, Sincimet 400, Startidine 200, Startidine 400, Stomedine 400 MG. (สโตมีดีน 400 มก.), Ulcemet, Ulcimet 200, Ulcimet 400, Ulcine (400) (อูลซีน (400)), Ulsamet 200 (อัลซาเมท 200), Vescidine 400, Clinimet-200 FC (คลินิเมท-200 เอ็ฟซี), Clinimet-400 FC (คลินิเมท-400 เอ็ฟซี), Siamidine, Tagapro, Cimetidine 400, Cimetidine tablets(200)

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยานี้มีชื่อภาษาไทยอื่นที่มีการใช้ดังต่อไปนี้

ไซเมติดีน, ไซเมทติดีน

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้ ซึ่งไม่ได้แสดงในนี้

แหล่งอ้างอิง

  1. Micromedex Thomson Healthcare. Advice for the Patient Drug Information in Lay Language USP DI, volume ll. 25th ed. Massachusetts: Micromedex Thomson Healthcare, 2005: 901-5.
  2. Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: Oct 8, 2009).
  3. Joint Formulary Committee. British National Formulary. 57th ed. London: British Medical Association and Royal Pharmaceutical Society of Great Britain, 2009: 45.
  4. Sunthornraj N, Fun LF, Evangelista LF, Labandilo LD, Romano MB, Afable JO, et al. MIMs Thailand. 106th ed. Bangkok: MediMedia (Thailand); 2007.

นรวร เจนณรงค์
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
08 ตุลาคม 2552 12 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย