อ่าน: 273
Small_font Large_font

Linezolid (ไลนิโซลิด)

คำอธิบายพอสังเขป

ไลนิโซลิด (linezolid) เป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มออกซาโซลิไดโอน (oxazolidinone) ใช้สำหรับโรคติดเชื้อแบคทีเรียพวกกรัมบวก (gram-positive) ที่ไวต่อยานี้ เช่น

  • โรคที่เกิดจากเชื้อ เอนเทอโรคอคคัส ฟีเซียม ( Enterococcus faecium ) ที่ดื้อต่อยาแวนโคมัยซิน (vancomycin)
  • โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่เกิดจากเชื้อ สแตฟฟิโลคอคคัส ออเรียส ( Staphylococcus aureus ) ทั้งที่ไวและดื้อต่อยาเมทิซิลลิน (methicillin)
  • การติดเชื้อที่ผิวหนังต่าง ๆ เช่น แผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน (diabetic foot infections) เป็นต้น

ยาไลนิโซลิด (linezolid) ไม่ได้ใช้รักษาไข้หวัดหรือการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาไลนิโซลิด (linezolid) หรือส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไทรามีนในปริมาณสูง เนื่องจากอาจทำให้เกิดความดันสูงอย่างรุนแรง เช่น ชีส (cheese) , เนื้อหมักต่าง ๆ ,ไส้กรอก, ซอสถั่วเหลือง, เบียร์, ไวน์แดง, โยเกิร์ต, ตับไก่ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีคาเฟอีน (caffeine) เช่น ชา, กาแฟ เนื่องจากอาจเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์จากยา
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีทริปโทแฟน (tryptophan) หรือ เฟนิลอลานีน(phenylalanine) เนื่องจากอาจเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์จากยา

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าไลนิโซลิด (linezolid) ทำให้น้ำหนักของตัวอ่อนของสัตว์ทดลองลดลง และเกิดความผิดปกติของกระดูก
สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้

กำลังให้นมบุตร

จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ายาไลนิโซลิด (linezolid) สามารถผ่านออกทางน้ำนมได้
แต่ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในสตรีที่ให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้หากอยู่ในระหว่างให้นมบุตร

เด็ก

มีการศึกษาด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยาไลนิโซลิด (linezolid) รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียกรัมบวก (gram-positive) ในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 11 ปี

ผู้สูงอายุ

มีการศึกษาการใช้ยาไลนิโซลิด (linezolid) ในผู้ป่วยสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ไม่พบว่ามีความแตกต่างด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยเมื่อเทียบกับผู้ป่วยวัยอื่น ๆ

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่น ๆ ที่จำเป็น ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้อยู่

ซัลบิวทามอล (salbutamol) อัลโมทริปแทน (almotriptan) อะมิทริปไทลีน (amitriptyline)
อะมอกซาพีน (amoxapine) อะพราโคลนิดีน (apraclonidine) แบมบิวเทอรอล(bambuterol)
ไบรโมนิดีน (brimonidine) บิวโพรเพียน (bupropion) บัสไพโรน (buspirone)
คาร์บามาซีพีน (carbamazepine) คาร์บิโดปา (carbidopa) ซิทาลโลแพรม (citalopram)
คลอมิพรามีน (clomipramine) คลอวอกซามีน (clovoxamine) ไซโพรเฮปทาดีน(cyproheptadine)
เดซิพรามีน (desipramine) เดสเวนลาฟาซีน (desvenlafaxine) เดกเมทิลเฟนิเดต (dexmethylphenidate)
เดกโทรเมโทแฟน (dextromethorphan) ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine) โดบิวทามีน (dobutamine)
โดพามีน (dopamine) ดอกซีพิน (doxepin) โดรเพอริดอล (droperidol)
ดิวลอกซีทีน (duloxetine) เอลทริปแทน (eletriptan) เอนทาคาโพน (entacapone)
อีพิเนฟริน (epinephrine) เอสซิทาลโลแพรม (escitalopram) ฟีโนเทอรอล (fenoterol)
เฟนทานิล (fentanyl) ฟลูออกซีทีน (fluoxetine) ฟลูวอกซามีน (fluvoxamine)
ฟอโมเทอรอล (formoterol) แปะก๊วย (ginkgo) โสม (ginseng)
ไฮโดรมอร์โฟน (hydromorphone) อิมิพรามีน (imipramine) ไอโซคาร์บอกซาซิด(isocarboxazid)
เลโวโดพา (levodopa) ชะเอมเทศ (licorice) ลิเทียม (lithium)
มั่วอึ๊ง (Ma Huang) เมเพอริดีน (meperidine) เมทาโดน (methadone)
เมทแอมเฟทามีน (methamphetamine) เมทิลโดพา (methyldopa) เมทิลเฟนิเดต (methylphenidate)
เมโทคลอพราไมด์ (metoclopramide) เมอทาซาพีน (mirtazapine) มอร์ฟีน (morphine)
เนฟาโซโดน (nefazodone) นอร์อีพิเนฟริน (norepinephrine) นอร์ทริปทิลีน (nortriptyline)
ออกซีโคโดน (oxycodone) พารอกซีทีน (paroxetine) ฟีโนบาร์บิทาล (phenobarbital)
เฟนเทอร์มีน (phentermine) เฟนิลอะลานีน (phenylalanine) เฟนิทอยด์ (phenytoin)
โพรคาร์บาซีน (procarbazine) โพรคาเทอรอล (procaterol) ซูโดเอฟรีดิน(pseudoephedrine)
เรเซอพีน (reserpine) ไรแฟมพิน (rifampin) ริสเพอริดอล (risperidone)
ซาลเมเทอรอล (salmeterol) ซีลีจิลีน (selegiline) เซอร์ทราลีน (sertraline)
ไซบิวทรามีน (sibutramine) เซนต์จอห์นเวิร์ธ (St John’s Wort) สุมาทริปแทน (sumatriptan)
เทอร์บิวทาลีน (terbutaline) โทลคาโพน (tolcapone) ทรามาดอล (tramadol)
ทราโซโดน (trazodone) ไทโรซีน (tyrosine) เวนลาฟาซีน (venlafaxine)
โซลมิทริปแทน (zolmitriptan)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาไลนิโซลิด (linezolid) ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • กลุ่มอาการที่คล้ายโรคมะเร็ง (carcinoid syndrome)
  • โรคความดันโลหิตสูง (hypertension)
  • เนื้องอกต่อมหมวกไตชนิดฟีโอโครโมไซโทมา (pheochromocytoma)
  • ไทรอยด์เป็นพิษ
  • เบาหวาน
  • ภาวะเลือดจาง
  • โรคเส้นประสาทส่วนปลาย (peripheral neuropathy)
  • ภาวะปัสสาวะมีฟีนิลคีโทน (phenylketonuria)
  • โรคลมชัก

การใช้ที่ถูกต้อง

ยาเม็ด

  • สามารถรับประทานยาได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร
  • รับประทานโดยกลืนยาทั้งเม็ด พร้อมกับดื่มน้ำตามมาก ๆ
  • เพื่อให้ระดับยาในเลือดคงที่ อาจรับประทานยาตามเวลา เช่น รับประทานยาทุก 12 ชั่วโมง และรับประทานยานี้ติดต่อกันทุกวันจนยาหมด แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม

ขนาดยา

ขนาดยาของยาไลนิโซลิด (linezolid) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร หรือตามที่ฉลากระบุ
จำนวนครั้งของการรับประทานยาในแต่ละวัน, ระยะห่างของการรับประทานยาในแต่ละครั้งและระยะเวลาที่ท่านรับประทานยาขึ้น อยู่กับสภาวะโรคของท่านที่ท่านต้องรับประทานยาไลนิโซลิด

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมรับประทานยาให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ ถ้าใกล้ถึงมื้อต่อไปให้ข้ามมื้อที่ลืมและรับประทานยาต่อในมื้อถัดไปในขนาดยา ปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บในภาชนะปิดสนิทให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

  • การใช้ยาไลนิโซลิด (linezolid) จะเปลี่ยนแปลงเชื้อที่อาศัยอยู่ตามปกติในลำไส้ใหญ่ โดยยาไปฆ่าเชื้อตามปกติที่มีอยู่ในลำไส้ใหญ่ และอาจทำให้เชื้อ_คลอสทริเดียม ดิฟฟิไซล์ (Clostridium difficile) เจริญมากเกินไป จนทำให้ลำไส้ใหญ่อักเสบและมีการสร้างแผ่นเมมเบรนเทียมรวมทั้งทำให้เกิดอาการท้องร่วง (pseudomembranous colitis) ควรพบแพทย์ทันทีหากมีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือท้องร่วงรุนแรงซึ่งอาจมีเลือดปน โดยมีหรือไม่มีอาการปวดเกร็งหน้าท้องและไข้ก็ได้ และห้ามใช้ยารักษาอาการท้องร่วง โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพราะการใช้ยาแก้ท้องร่วงอาจทำให้อาการเหล่านี้ยิ่งรุนแรงขึ้น
  • การใช้ยาไลนิโซลิด (linezolid) เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการดื้อยาและการเจริญมากไปของเชื้อที่ดื้อยาได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ซ้ำซ้อนได้ (superinfection)
  • มีรายงานการเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากการมีกรดแล็กติกมากเกินไป (lactic acidosis) ในผู้ป่วยที่ใช้ยาไลนิโซลิด (linezolid) โดยอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หากทำการตรวจเลือดอาจพบภาวะเลือดเป็นกรดที่หาสาเหตุไม่ได้ หรือมีระดับของไบคาร์บอเนตในเลือดต่ำ
  • มีรายงานการเกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน (serotonin syndrome) เมื่อใช้ยาไลนิโซลิด (linezolid) ร่วมกับยากลุ่มที่ทำหน้าที่ยับยั้งการเก็บกลับเซโรโทนิน (selective serotonin reuptake inhibitors) หรือที่เรียกย่อว่า “กลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (SSRI)” เช่น ฟลูออกซีทีน (fluoxetine), เซอร์ทราลีน (sertraline) , พารอกซีทีน (paroxetine) เป็นต้น โดยอาจมีอาการ เช่น เกิดความผิดปรกติของการรู้ (cognitive dysfunction), ตัวร้อนมากผิดปกติ (hyperpyrexia), การตอบสนองของรีเฟล็กซ์มีมากเกินไป (hyperreflexia) เป็นต้น
  • มีรายงานการเกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทส่วนปลาย (peripheral neuropathy) หรือ โรคเกี่ยวกับประสาทตา (optic neuropathy) ในผู้ป่วยที่ใช้ยาไลนิโซลิด (linezolid) เป็นเวลานานกว่าระยะเวลาที่แนะนำคือ 28 วัน หากมีการมองเห็นผิดปกติไป ควรรีบไปพบแพทย์

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. ควรพบแพทย์ทันที หากมีอาการไม่พึงประสงค์ต่อไปนี้

  • ท้องร่วงอย่างรุนแรง
  • ไข้, เจ็บคอ
  • เลือดออกผิดปกติ หรือมีจ้ำเลือด
  • ผิวซีด
  • อ่อนเพลีย

ข. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาหรือหยุดยาไปแล้วเนื่องจากร่างกายจะปรับตัว เข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

  • ท้องร่วง
  • ปวดศีรษะ
  • อาหารไม่ย่อย
  • คลื่นไส้
  • นอนไม่หลับ
  • ท้องผูก
  • ผื่นผิวหนัง

ค. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Betamethasone and Clioquinol (Topical), Betamethasone, Gentamicin, Tolnaftate and Clioquinol (Topical), Chloramphenicol , Chloramphenicol (Ophthalmic) , Chloramphenicol (Otic), Chloramphenicol (Topical), Clindamycin (Oral), Clindamycin (Topical), Clioquinol (Topical) , Metronidazole (Oral), Metronidazole (Topical), Metronidazole (Vaginal), Neomycin, Clioquinol, and Bacitracin (Topical) , Nitrofurantoin, Oxytetracycline and Polymyxin B (Ophthalmic), Oxytetracycline and Polymyxin B (Topical), Prednisolone and Chloramphenicol (Topical) , Prednisolone and Nitrofurazone (Topical) , Prednisolone, Chloramphenicol and Naphazoline (Ophthalmic) , Prednisolone, Nitrofurazone and Lidocaine (Topical) , Trimethoprim

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Zyvox (600 mg tablets)

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว. Linezolid . Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: July 28, 2010.
  2. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: July 28, 2010.
  3. Dailymed current medication information . Linezolid. Available at: http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?id=14981 Date: July 28, 2010.
  4. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: 28/7/2010).
  5. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Linezolid. Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a602004.html. Access Date: July 28, 2010.
  6. The Merck Manuals Online medical Library The Merck Manual for Healthcare Professionals: Linezolid Drug Information Provided by Lexi-Comp. Available at: http://www.merck.com/mmpe/lexicomp/linezolid.htm Access Date: July 28, 2010.

ไตรรัตน์ แก้วเรือง
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
29 กรกฎาคม 2553 15 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย