อ่าน: 250
Small_font Large_font

Nizatidine (ไนซาทิดีน )

คำอธิบายพอสังเขป

ไนซาทิดีน (nizatidine) เป็นยาต้านตัวรับฮิสตามีนชนิดที่ 2 หรือเรียกว่า ยาปิดกั้นตัวรับฮิสตามีนชนิดที่ 2 (H2-blockers) ใช้สำหรับรักษาแผลในลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัม (duodenal ulcer) และใช้สำหรับป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ใช้สำหรับรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (gastric ulcer) และใช้สำหรับบางสภาวะ เช่น Zollinger-Ellison disease ซึ่งเกิดจากการที่กระเพาะสร้างกรดมากเกินไป

ไนซาทิดีน (nizatidine) อาจใช้สำหรับบรรเทาอาการและหรือป้องกันการแสบยอดอก (heartburn), การย่อยอาหารไม่ดีเนื่องจากมีกรดมาก (acid indigestion)

ไนซาทิดีน (nizatidine) อาจใช้สำหรับรักษาสภาวะอื่นๆ ตามที่แพทย์สั่ง ไนซาทิดีน (nizatidine) ออกฤทธิ์โดยลดการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาไนซาทิดีน (nizatidine), รานิทิดีน (ranitidine), แฟโมทิดีน (famotidine), ไซเมททิดีน (cimetidine) หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร สารกันเสียหรือสี เป็นต้น

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'B' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาไม่มีความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์ หรือ จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายามีความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่พบผลดังกล่าวจากการศึกษาในมนุษย์ ดังนั้น ยาที่จัดอยู่ในประเภทนี้สามารถใช้ในสตรีมีครรภ์ได้ค่อนข้างปลอดภัย

ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาในสตรีมีครรภ์ การศึกษาในสัตว์ทดลองของการใช้ไนซาทิดีน(nizatidine) ทำให้เกิดการแท้งบุตรและน้ำหนักตัวของเด็กแรกเกิดน้อย ดังนั้นหากท่านกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ไนซาทิดีน (nizatidine)

กำลังให้นมบุตร

ไนซาทิดีน (nizatidine) ผ่านสู่น้ำนมได้ ทำให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหารและเพิ่มความตื่นเต้นในเด็กที่ดื่มนมแม่ที่ใช้ยานี้ อาจมีความจำเป็นที่จะเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นหรือหยุดให้น้ำนมชั่วคราว ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากท่านต้องการให้นมบุตรและกำลังจะใช้ยานี้

เด็ก

เคยมีการทดลองใช้ยานี้ในเด็กและในขนาดที่ให้ผลในการรักษา พบว่าไม่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือปัญหาใด ๆ ที่แตกต่างจากการใช้ในผู้ใหญ่เมื่อใช้ในระยะเวลาสั้นๆ

ผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุจะไวต่อฤทธิ์ของไนซาทิดีน (nizatidine) จึงอาจเกิดอาการสับสนหรือวิงเวียนศีรษะ

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อท่านจะใช้ไนซาทิดีน (nizatidine) ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ด้วยหากท่านใช้ยาต่อไปนี้อยู่

  • แอมิโนฟิลลิน (aminophylline)
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants)
  • คาเฟอีน (caffeine)
  • เมโทโพรลอล (metoprolol)
  • ออกทริฟิลลีน (oxtriphylline)
  • เฟนิทอยน์ (phenytoin)
  • โพรพาโนลอล (propanolol)
  • ทีโอฟิลลีน (theophylline)
  • ยาต้านซึมเศร้าที่มีโครงสร้างเป็นไตรไซคลิก (tricyclic antidepressant) การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับไซเมททิดีน (cimetidine) จะเพิ่มผลของไซเมททิดีน (cimetidine) ผลนี้เกิดได้น้อยในรานิทิดีน (ranitidine) และไม่เกิดในแฟโมทิดีน (famotidine), ไนซาทิดีน (nizatidine) อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มนี้คล้ายคลึงกันมาก ดังนั้นการเกิดปฏิกิริยาระหว่างกันของยาอาจเกิดได้ในยาใดก็ได้ในกลุ่มนี้
  • อิทราโคนาโซล (itraconazole)
  • คีโทโคนาโซล (ketoconazole)
  • ยาปิดกั้นตัวรับฮิสตามีนชนิดที่ 2 (H2-blockers) อาจลดผลของอิทราโคนาโซล (itraconazole) และคีโทโคนาโซล (ketoconazole) ได้ ดังนั้นควรรับประทานไนซาทิดีน (nizatidine) หลังจากรับประทานยาสองตัวนี้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาการเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ไนซาทิดีน (nizatidine) ท่านควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านมีสภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย

  • โรคไต
  • โรคตับ อาจทำให้ไนซาทิดีน (nizatidine) ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น อาจทำให้ความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเพิ่มขึ้น
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง การใช้ไนซาทิดีน (nizatidine) ทำให้กรดในกระเพาะอาหารลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อบางชนิด

การใช้ที่ถูกต้อง

สำหรับผู้ป่วยที่ซื้อยารับประทานเองเพื่อรักษาอาการแสบยอดอก, กรดในกระเพาะอาหารมาก, อาหารไม่ย่อยเนื่องจากกรด

  • ห้ามรับประทานยาในขนาดสูงสุดต่อวันเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ยกเว้นแพทย์สั่ง
  • หากท่านรู้สึกกลืนลำบากหรือปวดท้องเป็นเวลานาน ควรไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการเหล่านี้บ่งบอกว่าท่านมีอาการรุนแรงควรได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่น

สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาตามแพทย์สั่ง

  • รับประทานยาวันละครั้ง ควรรับประทานยาตอนก่อนนอนหรือตามที่แพทย์ระบุ
  • รับประทานยาวันละ 2 ครั้ง ควรรับประทานยาในมื้อเช้าและก่อนนอน
  • รับประทานยาวันละหลายครั้ง ควรรับประทานยาพร้อมมื้ออาหารและก่อนนอน

การรับประทานยานี้จะใช้เวลาหลายวันกว่าจะรู้สึกว่าอาการปวดท้องบรรเทาลง การรับประทานยาลดกรดร่วมกับยานี้จะยิ่งช่วยในการบรรเทาอาการปวดท้องได้ แต่หากแพทย์ไม่ได้สั่งให้ใช้ร่วมกันท่านก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาลดกรดร่วมด้วย อย่างไรก็ตามหากท่านต้องรับประทานยาสองตัวนี้ร่วมกันควรรับประทานให้ห่างกัน ½-1 ชั่วโมง

ควรรับประทานยานี้ให้ครบระยะเวลาที่แพทย์สั่งแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม รวมทั้งควรไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการและแพทย์จะบอกท่านเองว่าจะหยุดยาได้เมื่อไร

ขนาดยา

ขนาดยาของไนซาทิดีน (nizatidine) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ หรือ เภสัชกร หรือ ตามที่ระบุไว้บนฉลากยา

ขนาดยาของไนซาทิดีน (nizatidine) อาจแตกต่างกันในแต่ละเภสัชภัณฑ์ จำนวนของแคปซูลหรือยาเม็ดหรือจำนวนช้อนชาของยาที่รับประทานขึ้นอยู่กับความแรงของยา เช่น จำนวนครั้งของการใช้ยาในแต่ละวัน, ระยะห่างของการรับประทานยาในแต่ละครั้งและระยะเวลาที่ท่านใช้ยาขึ้นอยู่ว่าท่านกำลังรับประทานยานี้ในรูปแบบออกฤทธิ์นานหรือรูปแบบออกฤทธิ์สั้นและกับสภาวะของท่านที่ท่านต้องใช้ไนซาทิดีน (nizatidine)

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมรับประทานยา ควรรับประทานทันทีที่นึกได้ อย่างไรก็ตามหากใกล้ถึงมื้อต่อไปที่ต้องรับประทานยา ให้ข้ามมื้อนั้นไป แล้วรับประทานยาตามปกติ ห้ามเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่าเด็ดขาด

การเก็บรักษา

  • เก็บให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนและความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

ยานี้อาจรบกวนผลของการทดสอบบางอย่าง ควรบอกแพทย์ว่า กำลังใช้ยานี้อยู่ หากท่านต้องทำการทดสอบที่เกี่ยวกับการทดสอบการแพ้ทางผิวหนัง, การทดสอบใดๆที่เกี่ยวกับการหาปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร

ยาบางอย่าง เช่น แอสไพริน (aspirin) และอาหาร, เครื่องดื่มบางประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์จากมะนาว, เครื่องดื่มที่มีคาร์บอเนต เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะระคายเคืองกระเพาะอาหารและทำให้อาการของท่านยิ่งแย่ลง

การสูบบุหรี่จะลดผลของยานี้โดยการเพิ่มการหลั่งกรดจากกระเพาะอาหารมีผลมากในตอนกลางคืน ในขณะที่ท่านใช้ยานี้ควรหยุดสูบบุหรี่หรืออย่างน้อยงดสูบบุหรี่หลังการรับประทานยามื้อสุดท้ายของแต่ละวัน

การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในขณะใช้ยานี้เคยมีรายงานว่า จะทำให้มีปริมาณของแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดมากยิ่งขึ้น

หากท่านมีอาการปวดท้องอย่างต่อเนื่องหรืออาการยิ่งแย่ลง ควรไปพบแพทย์ทันที

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. ควรพบแพทย์ทันทีหากท่านมีอาการเหล่านี้

พบน้อยมาก

  • ปวดท้อง, หลัง, ขาและกระเพาะอาหาร, คลื่นไส้หรืออาเจียน, เบื่ออาหาร
  • มีเลือดออกหรือเจ็บที่ริมฝีปาก, ผิวหนังมีตุ่มน้ำใส แสบร้อน แดง หนาตัวขึ้นหรือตกสะเก็ด, มีตุ่มน้ำที่ฝ่ามือและหลังเท้า, ผิวหนังหลุดลอกเป็นสะเก็ด, เจ็บ มีแผลที่ริมฝีปาก ในปากหรือที่อวัยวะเพศ
  • การมองเห็นผิดปกติหรือตาพร่า, สับสน, ระคายเคืองตาหรือตาแดง
  • ไอหรือกลืนลำบาก
  • ปัสสาวะสีเข้มขึ้น, อุจจาระสีซีด, ตัวเหลืองตาเหลือง
  • วิงเวียนศีรษะ, เป็นลม, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, มีไข้และ/หรือสั่น, มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่, รู้สึกเหมือนไม่สบาย
  • มีผื่นลมพิษ,มีผื่นหรืออาการคันที่ผิวหนัง, หลอดเลือดแดงอักเสบ, ปวดข้อ
  • อารมณ์หรือจิตใจเปลี่ยนแปลงไปรวมทั้งภาวะวิตกกังวลใจ, สั่น, สับสน, ประสาทหลอน (การเห็นภาพ ได้ยินเสียงหรือรู้สึกถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง), ภาวะซึมเศร้า, กระสับกระส่ายหรือการป่วยทางจิตใจ, ปวดหรือเกร็งกล้ามเนื้อ
  • หัวใจเต้นช้า, เจ็บคอ, หน้า ริมฝีปาก ปาก ลิ้นหรือเปลือกตาบวม, มือหรือเท้าบวม, ต่อมน้ำเหลืองบวม
  • หายใจสั้น, แน่นหน้าอก, หายใจลำบากฉับพลัน, เลือดออกผิดปกติหรือเกิดจ้ำเลือด, อ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้ามากผิดปกติ, หายใจช้าผิดปกติหรือจังหวะการหายใจไม่สม่ำเสมอ, หายใจมีเสียงวี๊ด

ข. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาเนื่องจากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนานหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

พบน้อยหรือน้อยมาก

  • ท้องผูก, ท้องร่วง
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • ปัสสาวะลำบาก, ปัสสาวะมากขึ้นหรือน้อยลง
  • วิงเวียนศีรษะ, ง่วงซึม, นอนหลับยาก
  • ปากแห้ง, ผิวแห้ง, ปวดศีรษะ, เหงื่อออกมาก, น้ำมูกไหล
  • ผมร่วง
  • ได้ยินเสียงกริ่งในหู, เต้านมบวมหรือเจ็บเต้านมในเพศหญิงและชาย

อาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวเป็นอาการที่เคยมีรายงานจากการใช้ยานี้ ยาในกลุ่มยาปิดกั้นตัวรับฮิสตามีนชนิดที่ 2 (H2-blockers) มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ดังนั้นอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวอาจเกิดจากยาตัวใดก็ได้ในกลุ่มนี้

ค. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ข้อมูลเพิ่มเติม

ไนซาทิดีน (nizatidine) สามารถใช้ในการรักษาสภาวะต่อไปนี้ได้

  • เป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เนื่องจากความเครียดหรือการได้รับบาดเจ็บ
  • ผื่นลมพิษ
  • ปัญหาเกี่ยวกับตับอ่อน
  • แผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เนื่องจากยาที่ใช้ในการรักษาข้ออักเสบรูมาตอยด์

ข้อมูลการใช้ยานี้ในกรณีที่กล่าวไว้ข้างต้นยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างเหมาะสม ข้อควรระวังและอาการไม่พึงประสงค์สำหรับการใช้ในกรณีเหล่านี้

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Cimetidine, Famotidine, Ranitidine

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Axid

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยานี้มีชื่อภาษาไทยอื่นที่มีการใช้ดังต่อไปนี้

ไนซาติดีน

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้ ซึ่งไม่ได้แสดงในนี้

แหล่งอ้างอิง

  1. Micromedex Thomson Healthcare. Advice for the Patient Drug Information in Lay Language USP DI, volume ll. 25th ed. Massachusetts: Micromedex Thomson Healthcare, 2005: 901-5.
  2. Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: Oct 8, 2009).
  3. Joint Formulary Committee. British National Formulary. 57th ed. London: British Medical Association and Royal Pharmaceutical Society of Great Britain, 2009: 46.
  4. Sunthornraj N, Fun LF, Evangelista LF, Labandilo LD, Romano MB, Afable JO, et al. MIMs Thailand. 106th ed. Bangkok: MediMedia (Thailand); 2007.

นรวร เจนณรงค์ , หทัยรัตน์ คังคะสุวรรณ
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
08 ตุลาคม 2552 16 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย