อ่าน: 3200
Small_font Large_font

Prednisolone (Oral) (เพรดนิโซโลน ชนิดรับประทาน)

คำอธิบายพอสังเขป

เพรดนิโซโลน (prednisolone) เป็นยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids) หรืออาจเรียกสั้น ๆ ว่า สเตอรอยด์ เพรดนิโซโลนมีฤทธิ์ลดอาการอักเสบและการแพ้ เช่น อาการระคายเคือง บวม แดง คัน
เพรดนิโซโลนใช้รักษาโรคต่าง ๆ เช่น

  1. ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ (endocrine disorders) เช่น ต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอ (adrenocortical insufficiency), การเจริญมากเกินไปของเปลือกต่อมหมวกไตแต่กำเนิด (congenital adrenal hyperplasia), ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงจากมะเร็ง (hypercalcemia associated with cancer) เป็นต้น
  2. ความผิดปกติเกี่ยวกับข้อ (rheumatic disorders) เช่น ข้ออักเสบจากโรคสะเก็ดเงิน (psoriatic arthritis), ข้ออักเสบรูมาทอยด์ (rheumatoid arthritis), กระดูกสันหลังอักเสบข้อยึดติด (ankylosing spondylitis), ปลอกเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (tenosynovitis), ข้ออักเสบจากโรคเกาต์แบบเฉียบพลัน (acute gouty arthritis) เป็นต้น
  3. กลุ่มอาการซิสเทมิกลูปัสอีริทีมาโทซัส (systemic lupus erythematosus) หรือเอสแอลอี (SLE)
  4. โรคผิวหนังต่าง ๆ เช่น โรคเพมฟิกัส (pemphigus), ลักษณะผิวหนังแดงหลายรูปชนิดรุนแรง (severe erythema multiforme) หรือกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome), ผิวหนังอักเสบหลุดลอกเป็นแผ่น (exfoliative dermatitis), โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis), ผิวหนังอักเสบจากรังแคอย่างรุนแรง (severe seborrheic dermatitis) เป็นต้น
  5. โรคภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ เช่น เยื่อจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis),การแพ้เซรุ่ม (serum sickness), โรคหืด (bronchial asthma), ผิวหนังอักเสบจากการแพ้แบบสัมผัส (allergic contact dermatitis), การแพ้ยา (drug hypersensitivity reactions)
  6. โรคมะเร็งต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในผู้ใหญ่, โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กแบบเฉียบพลัน

เพรดนิโซโลน อาจใช้เพื่อรักษาโรคอื่น ๆ ได้อีก ดังนั้นหากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

ยากลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ หรือ สเตอรอยด์ หรือ สเตียรอยด์ เป็นยาที่มีอาการข้างเคียงมากมาย และอาจทำให้เกิดอันตรายที่รุนแรงมาก จึงไม่ควรใช้ยาพร่ำเพรื่อ การใช้ยาต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมี ประวัติการแพ้ยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) หรือยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids) หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่น ๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ระหว่างใช้ยานี้ เนื่องจากเพิ่มการระคายต่อทางเดินอาหาร

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

ไม่มีการศึกษาการใช้ยานี้ในสตรีที่ตั้งครรภ์ แต่จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ายาคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids) ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนของสัตว์ทดลอง การใช้ยาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

กำลังให้นมบุตร

ยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) สามารถผ่านออกทางน้ำนมได้ และอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ในทารกที่ได้รับน้ำนมมารดา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้

เด็ก

มีการพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids) ในการใช้รักษากลุ่มอาการเนโฟรติก (nephrotic syndrome) ในเด็กอายุมากกว่า 2 ปี และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กอายุมากกว่า 1 เดือน พบว่าไม่แตกต่างกับวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาการใช้ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ในเด็กที่เป็นโรคหอบหืดที่มีอาการรุนแรง

อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยเด็กไม่ได้แตกต่างจากผู้ใหญ่ เด็กที่ใช้ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ ควรได้รับการตรวจวัดความดันโลหิต, บันทึกน้ำหนัก ส่วนสูง, ความดันในลูกตา และประเมินการเกิดภาวะต่างๆ เช่น การติดเชื้อ ,การเกิดภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดตัน (thromboembolism), อาการทางจิต, แผลในทางเดินอาหาร, ต้อกระจก และกระดูกพรุน เป็นต้น

การใช้ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ เป็นเวลานาน อาจยับยั้งการเจริญเติบโตในเด็ก ทำให้เด็กโตช้าและหยุดสูงเร็วกว่าปกติ

ผู้สูงอายุ

จำนวนของผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปีในการศึกษาการใช้ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids) มีไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นความแตกต่างของการตอบสนองต่อยาเมื่อเทียบกับวัยผู้ใหญ่ทั่วไป

โดยทั่วไปแล้วควรใช้ยาด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยสูงอายุ เนื่องจากมีการทำงานของตับ ไต และหัวใจที่ลดลง

ผู้ป่วยสูงอายุที่ใช้ยานี้อาจมีความดันโลหิตสูงขึ้น เกิดโรคเบาหวานหรือเกิดโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ยาเป็นระยะเวลานาน

ผู้ป่วยสูงอายุที่ใช้ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ ควรได้รับการตรวจวัดความดันโลหิต, ความดันในลูกตา และประเมินการเกิดภาวะต่างๆ เช่น การติดเชื้อ, การเกิดภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดตัน (thromboembolism), อาการทางจิต, แผลในทางเดินอาหาร, ต้อกระจก และกระดูกพรุน เป็นต้น

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่น ๆ ที่จำเป็น ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้ร่วมอยู่ด้วย

นีโอสติกมีน (neostigmine) ไพริโดสติกมีน (pyridostigmine) อะมิโนกลูเททิไมด์ (aminoglutethimide)
คาร์บามาซีพีน (carbamazepine) กริซีโอฟูลวิน (griseofulvin) ไมโทเทน (mitotane)
เฟนิลบิวทาโซน (phenylbutazone) เฟนิทอยด์ (phenytoin) พริมิโดน (primidone)
ไรแฟมพิน (rifampin) แอมโฟเทอริซิน บี (amphotericin B) ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทาน (antidiabetic agents, oral)
อินซุลิน(insulin) คลาริโทรมัยซิน (clarithromycin) อีริโทรมัยซิน (erythromycin)
ไซโคลสพอริน (cyclosporine) ดิจอกซิน (digoxin) ยาขับปัสสาวะ (diuretics)
คีโทโคนาโซล (ketoconazole) เกลือโซเดียม (sodium)
แอสพาราจิเนส (asparaginase) แอสไพริน (aspirin) แอทราคิวเรียม (atracurium)
บิวโพรเพียน (bupropion) ซิโพรฟลอกซาซิน (ciprofloxacin) เดสโซเจสเทรล(desogestrel)
ดอกซาคิวเรียม (doxacurium) ดรอสเพียริโนน (drospirenone) เอไทนิลเอสทราไดออล (ethinyl estradiol)
ฟอสเฟนิทอยด์ (fosphenytoin) เจมิฟลอกวาซิน (gemifloxacin) ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (hydrochlorothiazide)
ไอโซไนอาซิด (isoniazid) อิทราโคนาโซล (itraconazole) เลโวฟลอกซาซิน(levofloxacin)
เลโวนอร์เจสเทรล (levonorgestrel) ชะเอมเทศ (licorice) โลมีฟลอกซาซิน (lomefloxacin)
เมดดรอกซีโพรเจสเทอโรน แอซีเทต (medroxyprogesterone acetate) เมสทรานอล (mestranol) มอกซิฟลอกซาซิน (moxifloxacin)
นอร์เอทินโดรน (norethindrone) นอร์ฟลอกซาซิน (norfloxacin) นอร์เจสเทรล (norgestrel)
โอฟลอกวาซิน (ofloxacin) แพนคิวโรเนียม (pancuronium) เพนโทบาร์บิทาล (pentobarbital)
ฟีโนบาร์บิทาล (phenobarbital) ควีไทอาพีน (quetiapine) โรคิวโรเนียม (rocuronium)
ซัคซินิลโคลีน (succinylcholine) เทรทิโนอิน (tretinoin) วีคิวโรเนียม (vecuronium)
วอร์ฟาริน (warfarin)
วัคซีนโรตาไวรัสชนิดตัวเป็น (rotavirus vaccine, live) วัคซีนโรคหัดเยอรมันชนิดตัวเป็น (rubella virus vaccine, live) วัคซีนโรคฝีดาษ (smallpox vaccine)
ทอกซอยด์โรคบาดทะยัก (tetanus toxoid) วัคซีนไทฟอยด์ (typhoid vaccine) วัคซีนโรคอีสุกอีใส (varicella virus vaccine)
วัคซีนเฮโมฟิลุส บี (haemophilus B vaccine) วัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอ (hepatitis A vaccine, inactivated) วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดตัวเป็น (influenza virus vaccine, live)
วัคซีนโรคหัดชนิดตัวเป็น (measles virus vaccine, live) วัคซีนโรคคางทูมชนิดตัวเป็น (mumps virus vaccine, live) วัคซีนโรคโปลิโอชนิดตัวเป็น (poliovirus vaccine, live)
วัคซีนพิษสุนัขบ้า rabies vaccine) วัคซีนโรคแอนแทรกซ์ (anthrax vaccine adsorbed) วัคซีนไข้เหลือง (yellow fever vaccine)

อาจมียาอีกหลายชนิดที่ไม่ควรใช้ร่วมกับยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบว่าท่านกำลังใช้ยาใดอยู่ในขณะนี้

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยหรือโรคที่ห้ามใช้ยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) ท่านต้องแจ้งแพทย์ หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • โรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคเอดส์ (AIDS), วัณโรค, สุกใส เนื่องจากยากดภูมิต้านทานของร่างกายต่อเชื้อ
  • โรคเบาหวาน เนื่องจากยาทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ และทำให้โรคเบาหวานรุนแรงขึ้น
  • โรคแผลในทางเดินอาหาร เช่น มีแผลเปื่อยที่กระเพาะหรือลำไส้ เนื่องจากยานี้ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เป็นแผลและมีเลือดออกได้

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่อาจส่งผลต่อการใช้ยาเพรดนิโซโลน หรืออาจทำให้โรคที่ท่านเป็นอยู่รุนแรงขึ้น ท่านต้องแจ้งแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • ต้อหิน
  • โรคหัวใจ หลอดเลือด
  • โรคไต
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคตับ
  • ไทรอยด์
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (myasthenia gravis)
  • โรคกระดูกพรุน
  • ความผิดปกติทางจิต

การใช้ที่ถูกต้อง

  • ยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) ชนิดรับประทานมีจำหน่ายในรูปแบบเม็ด แคปซูล และยาน้ำเชื่อม
  • ควรรับประทานยาหลังอาหารทันที่แล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์ต่อทางเดินอาหาร
  • หากรับประทานเพรดนิโซโลนวันละครั้งเดียวให้รับประทานยาตอนเช้าเพื่อลดอาการข้างเคียงของยา นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งให้ผู้ป่วยบางรายรับประทานยาเพรดนิโซโลนวันเว้นวันเพื่อลดอาการข้างเคียงของยา ท่านอาจมีอาการของโรคที่ท่านรักษาอยู่บ้างเล็กน้อยในวันที่ไม่ได้รับประทานยา แต่ถ้ามีอาการมากให้แจ้งแพทย์ผู้รักษา
  • เมื่อท่านรับประทานยาเพรดนิโซโลนมาเป็นระยะเวลานาน อาการของท่านอาจจะดีขึ้น แต่ยังไม่หายขาด ให้รับประทานยาต่อไป ท่าน
*ไม่ควรหยุดรับประทานยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ การหยุดยาทันทีทำให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนสเตอรอยด์มาทดแทนไม่เพียงพอ และอาจทำให้เกิดอาการถอนยาได้ เช่น ทำให้เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อ่อนล้า ปวดศรีษะ มีไข้ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ น้ำหนักตัวลดลง ความดันโลหิตต่ำ และถึงแก่ชีวิตได้ การหยุดยาต้องปรึกษาแพทย์ และแพทย์จะค่อย ๆ ลดขนาดยาลงทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายของท่านปรับตัวได้
  • กฎหมายกำหนดให้ยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) ชนิดรับประทานเป็นยาควบคุมพิเศษ ท่านควรได้รับยานี้โดยมีแพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย

ขนาดยา

ขนาดยาของเพรดนิโซโลน (prednisolone) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามใบสั่งยาของแพทย์หรือคำแนะนำของเภสัชกรหรือตามที่ฉลากระบุ
จำนวนครั้งของการรับประทานยาในแต่ละวัน, ระยะห่างของการรับประทานยาในแต่ละครั้งและระยะเวลาที่ท่านรับประทานยาขึ้น อยู่กับสภาวะโรคของท่าน

เมื่อลืมใช้ยา

  • หากรับประทานยาแบบทุกวัน วันละหนึ่งครั้ง หรือ หลายครั้ง ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าใกล้เวลาของยามื้อต่อไปให้ข้ามยามื้อที่ลืมและรับประทานต่อในมื้อปกติ ห้ามเพิ่มจำนวนเม็ดยาเป็นสองเท่า
  • หากรับประทานยาแบบวันเว้นวัน วันละหนึ่งครั้ง และลืมรับประทานยาในตอนเช้า ถ้านึกขึ้นได้ในช่วงเช้าของวันนั้นให้รับประทานยาเม็ดที่ลืมในทันทีที่นึกได้ แต่ถ้านึกได้ในหลังจากนั้น ให้ข้ามยามื้อที่ลืมและรอรับประทานยาในเช้าวันรุ่งขึ้น และเว้นไม่รับประทานยา 1 วัน แล้วเริ่มรับประทานยาต่อไปตามปกติ ห้ามเพิ่มจำนวนเม็ดยาเป็นสองเท่า

การแก้ปัญหาวิธีลืมรับประทานยาเพรดนิโซโลนมีหลายวิธี แพทย์หรือเภสัชกรอาจแนะนำวิธีแก้ปัญหาการลืมกินยาแบบอื่นให้ท่านก็ได้ เพราะขึ้นอยู่กับภาวะของตัวท่านเองและวิธีการรักษา

หากท่านลืมรับประทานยาให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ ถ้าใกล้ถึงมื้อต่อไปให้ข้ามมื้อที่ลืมและรับประทานยาต่อในมื้อถัดไปในขนาดยา ปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บในภาชนะปิดสนิทให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • ห้ามใช้ยาหลังวันสิ้นอายุของยาที่แสดงไว้บนฉลาก หากไม่ระบุเป็นอย่างอื่น วันสิ้นอายุของยา หมายถึง วันสุดท้ายของเดือนที่แสดงบนฉลาก

ข้อควรระวัง

ควรไปพบแพทย์ตามนัด หากต้องใช้ยานี้เป็นระยะเวลานาน

  • ยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) มีผลกดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่รับประทานยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไป ทำให้ติดเชื้อต่าง ๆ และเกิดโรคได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น โรคสุกใส หรือโรคหัด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนที่เป็นหวัด หัด สุกใส วัณโรค มีไข้ หรือติดเชื้ออื่นๆ หากมีอาการผิดปกติ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะแสบขัด เจ็บคอ ท้องร่วง เหนื่อยหอบผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ และแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าท่านกำลังรักษาด้วยยาเพรดนิโซโลนอยู่
  • การใช้ยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) ในระยะยาวอาจทำให้เกิดต้อกระจก (posterior subcapsular cataracts) หรือต้อหินที่มีการทำลายของเส้นประสาทตา และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดของการติดเชื้อราหรือไวรัสที่ตาได้
  • การรับประทานยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) เป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะกดการทำงานของต่อมไฮโปทาลามัส-พิทูอิทารี-ต่อมหมวกไต (hypothalamic-pituitary-adrenal axis suppression) ซึ่งอาจแสดงออกโดยกลุ่มอาการคุชชิ่ง (Cushing’s syndrome) ซึ่งทำให้มีความผิดปกติหลายอย่าง เช่น บวมน้ำ น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว หน้ากลมเหมือนดวงจันทร์ มีโหนกตรงต้นคอ นอกจากนี้ยังทำให้น้ำตาลในเลือดสูง และมีน้ำตาลออกมากับปัสสาวะ (glucosuria) เป็นต้น
  • การรับประทานยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) ในขนาดยาสูง ๆ อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง, มีการคั่งของน้ำและเกลือในร่างกาย และเพิ่มการขับเกลือโพแทสเซียมออกจากร่างกาย แพทย์อาจให้ท่านจำกัดการรับประทานเกลือแกง และให้โพแทสเซียมเสริมแก่ท่าน
  • การรับประทานยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) ในขนาดยาสูง ๆ ในระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการทางจิต เช่น มีภาวะเคลิ้มสุข (euphoria), ฝันร้าย, นอนไม่หลับ , คิดฆ่าตัวตาย เป็นต้น ควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตอยู่ก่อนแล้ว

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ถึงแม้ว่าอาการไม่พึงประสงค์ต่อไปนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมด แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม
ก. พบแพทย์โดยเร็วหากมีอาการต่อไปนี้
พบไม่บ่อย

  • การมองเห็นลดลง หรือตาพร่า
  • ปัสสาวะบ่อย
  • กระหายน้ำ

พบน้อย
  • สับสน
  • ประสาทหลอน
  • ซึมเศร้า
  • อารมณ์แปรปรวน
  • กระสับกระส่าย
  • ผื่นผิวหนัง หรือลมพิษ

ข.อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ อาจเกิดขึ้นได้เมื่อใช้ยาเป็นระยะเวลานาน ให้ไปพบพบแพทย์หากท่านเกิดอาการเหล่านี้

  • ปวดท้อง หรือปวดแสบท้อง
  • สิว
  • อุจจาระดำ หรืออุจจาระเป็นเลือด
  • การมองเห็นเปลี่ยนไป
  • ปวดตา
  • หน้ากลม
  • ปวดศีรษะ
  • หัวใจเต้นผิดปกติ
  • รอบเดือนมาผิดปกติ
  • ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • แขน ขาบวม
  • ผิวหนังแตกลาย
  • ผิวหนังบางลง
  • นอนไม่หลับ
  • มีจ้ำเลือด
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • น้ำหนักเพิ่ม
  • แผลหายช้า

ค. อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาหรือหยุดยาไปแล้วเนื่องจากร่างกายจะปรับตัว เข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน
พบบ่อย

  • เพิ่มความอยากอาหาร
  • อาหารไม่ย่อย

พบไม่บ่อย หรือ พบน้อย
  • สีผิวเข้มขึ้น หรือจางลง
  • วิงเวียนศีรษะ
  • สะอึก
  • เหงื่อออกมาก

ง.อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการข้างเคียงอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

  • แพทย์อาจสั่งยาป้องกันหรือรักษาปัญหากระดูกในผู้ที่ใช้ยานี้เป็นเวลานาน ๆ เนื่องจากยานี้ทำให้กระดูกบางได้**

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • ถ้าต้องผ่าตัด หรือทำฟัน หรือการรักษาฉุกเฉินต่าง ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ หรือทันตแพทย์ทราบว่า ท่านกำลังรับประทานยาเพรดนิโซโลนอยู่ เนื่องจากอาจต้องมีการจัดการบางประการเพื่อเตรียมสภาพร่างกายของท่านให้พร้อมสำหรับรับการผ่าตัดหรือการกระทำต่าง ๆ เหล่านี้
  • ถ้าต้องทำการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ควรแจ้งให้แพทย์ หรือทันตแพทย์ทราบว่าท่านกำลังรับประทานยาเพรดนิโซโลน เพราะยาอาจทำให้การตอบสนองต่อการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังลดลง

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Betamethasone , Dexamethasone (Oral), Fludrocortisone (Oral), Hydrocortisone (Oral), Triamcinolone (Oral)

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Prednisolone tablets (เพรดิโซโลน แท๊บเบลท ชนิดเม็ด), Prednidon capsules (เพรดนิดอน ชนิดแคปซูล), Prednisolone tablet (เพรดนิโซโลน ชนิดเม็ด), Neosolone tablets (นีโอโซโลน ชนิดเม็ด), Predsone tablet (ยาเม็ด เพร็ดโซน), Fortisone tablets (ฟอร์ติโซน ชนิดเม็ด), Prenilone tablets 5 mg. (ยาเม็ดปรีนิโลน 5 มิลลิกรัม), Prednisolone 5 mg. tablets (เพรดนิโซโลน 5 มก. ชนิดเม็ด), Predcortin tablets (เพร็ดคอร์ติน ชนิดเม็ด), Prednidon tablets (เพรดนิดอน ชนิดเม็ด), Leesolone tablets (ลีโซโลน ชนิดเม็ด), Prednisolone tablets BP. 1973 (เพรดนิโซโลน บีพี 1973 ชนิดเม็ด), Presoga tablets (พรีโซก้าิิ ชนิดเม็ด), Prednersone capsules (เพรดเนอร์โซน แคปซูล), Minisolone tablets (มินิโซโลน ชนิดเม็ด), Deltacorsolone tablets (เดลต้าคอร์โซโลน ชนิดเม็ด), Neosolone - C tablets (นีโอโซโลน-ซี ชนิดเม็ด), Prednisolone tablets USP. XIX (ยาเม็ดเพรดนิโซโลน), Predisole tablets (เพรดิโซล ชนิดเม็ด), Prednersone tablets (เพรดเนอรโซน ชนิดเม็ด), Predil tablet (เพรดดิ้ล ชนิดเม็ด), Prednibemed (tablets) (เพรดนี่บีเมด (ชนิดเม็ด)), Predsomed tablets (เพรดโซเมด ชนิดเม็ด), Prednisolone tablets 5 mg. (เพรดนิโซโลน แทบเลต 5 มก. ชนิดเม็ด), Cureral tablet (เคียวราล แทบเลท ชนิดเม็ด), Prednisolone "olan" tablets (เพรดนิโซโลน โอลัน ชนิดเม็ด), RP-solone 1 tablets (อาร์พี-โซโลน 1 ชนิดเม็ด), RP-solone 2 tablets (อาร์พี-โซโลน 2 ชนิดเม็ด), Prednisolone (g) tablets (เพรดนิโซโลน จี ชนิดเม็ด), Pred-tab (เพรดแทบ ชนิดเม็ด), Predcap (เพรดแคป), Prednisolone(white) tablets (เพรดนิโซโลน(ขาว) ชนิดเม็ด), Fredisone tablet (เฟรดไดโซน ชนิดเม็ด), Medsolone tablets (เมดโซโลน ชนิดเม็ด), Predman tablets (เพรดแมน ชนิดเม็ด), Di - Adreson - F tablets (ไดแอดรีสัน - เอฟ ชนิดเม็ด), Starpred tablet (สตาร์เพรด ชนิดเม็ด), Sinopred tablets (ซีโนเพร็ด ชนิดเม็ด), Predi K.B. tablets, Opredsone (capsules) (โอเพร็ดโซน (แคปซูล)), I - sone 5 mg tablets, Liquipred 15 mg/5 ml syrup, Nisone tablets (ไนโซน เม็ด), Predstar tablets (เพรดสตาร์ ชนิดเม็ด), Pharsopred tablets (ฟาร์โซเพรด ชนิดเม็ด), Amarson tablet, Pinsolon tablets (ยาเม็ด พินโซโลน), Amarson tablets, Nisolone tablets (ยาเม็ด นิโซโลน), Precort tablet

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว.Prednisolone. Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: Oct 12, 2010.
  2. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข.ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ยาควบคุมพิเศษ.Available at:http://wwwapp1.fda.moph.go.th/drug/zone_law/law039.aspAccess Date: Oct 12, 2010.
  3. British Medical Association and Royal Pharmaceutical Society of Great Britain. British National Formulary. 57th ed. (March, 2009) BMJ Publishing Group Ltd., London, 388-392.
  4. Dailymed current medication information. Prednisolone. Available at: http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/search.cfm?startswith=prednisolone&x=0&y=0 Access Date: Oct 22, 2010.
  5. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Corticosteroids Glucocorticoid Effects (Systemic) Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.

ไตรรัตน์ แก้วเรือง
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
23 ตุลาคม 2553 30 มีนาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย