อ่าน: 1900
Small_font Large_font

Sulfadiazine (ซัลฟาไดอาซีน)

คำอธิบายพอสังเขป

ซัลฟาไดอาซีน (sulfadiazine) เป็นยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ (sulfonamides) หรือซัลฟา (sulfas) ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการสร้างกรดโฟลิก (folic acid) ของแบคทีเรีย ใช้สำหรับรักษาและป้องกันการติดเชื้อ เช่น ใช้รักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

  • ยาในกลุ่มซัลโฟนาไมด์มีหลายชนิด แต่ละชนิดใช้ในการรักษาการติดเชื้อที่ต่างกัน
  • ยาตัวหนึ่ง ๆ ในกลุ่มนี้อาจใช้ทดแทนตัวอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันไม่ได้
  • บางครั้งอาจให้ยานี้ร่วมกับยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) ตัวอื่น ๆ
  • ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ ไม่ได้ใช้รักษาไข้หวัดหรือการติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆหรือมี ประวัติการแพ้ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ (sulfonamides) หรือยา ซัลฟา (sulfa medicines), ฟูโรซีไมด์ (furosemide), ยาลดน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทาน (oral antidiabetics), ยารักษาต้อหินชนิดรับประทาน เช่น อะเซทาโซลาไมด์ (acetazolamide), เมทาโซลาไมด์ (methazolamide) หรือส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานวิตามินซี น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีความเป็นกรดในปริมาณมากระหว่างรับประทานยานี้ เพื่อป้องกันการเกิดผลึกในปัสสาวะ (crystalluria)
  • ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือยาที่มีส่วนผสมเซนต์จอห์นเวิร์ธ (St John’s wort) เนื่องจากอาจทำให้ผิวหนังมีความไวต่อแสงมากขึ้น

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

จากการศึกษาในหนูทดลองพบว่ายาในกลุ่มซัลโฟนาไมด์บางชนิด ก่อให้เกิดความผิดปกติตัวตัวอ่อนหนูทดลอง เช่น ปากแหว่งเพดาโหว่ และมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับกระดูก

สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เว้นแต่แพทย์พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องใช้

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

จากการศึกษาในหนูทดลองพบว่ายาในกลุ่มซัลโฟนาไมด์บางชนิด ก่อให้เกิดความผิดปกติตัวตัวอ่อนหนูทดลอง เช่น ปากแหว่งเพดาโหว่ และมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับกระดูก

สตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เว้นแต่แพทย์พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องใช้

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'D' สำหรับสตรีมีครรภ์

ยามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาจใช้ยานี้ได้ หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

การใช้ยานี้ในช่วงใกล้คลอดอาจทำให้ทารกมีตัวเหลือง ตาเหลือง และเป็นอันตรายได้ อย่างไรก็ตามทารกแรกเกิดอาจมีตัวเหลือง ตาเหลืองจากสภาวะโรคของทารกเองซึ่งพบได้บ่อย โดยไม่เกี่ยวข้องกับยา

หากจำเป็นต้องใช้ยานี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้และการใช้ยานี้ระหว่างตั้งครรภ์ควรใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น

กำลังให้นมบุตร

ยาซัลฟาไดอาซีน (sulfadiazine )สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมได้
ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ระหว่างให้นมบุตร เพราะอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อตับ เกิดภาวะเลือดจาง ในทารกที่ได้รับน้ำนม โดยเฉพาะทารกที่มีภาวะพร่องเอนไซม์กลูโคส-6-ฟอสเฟตดีไฮโดรจีเนส [glucose-6-phosphate dehydrogenase (G6PD)]

เด็ก

  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาซัลฟาไดอาซีน (sulfadiazine ) ในเด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน

ผู้สูงอายุ

ผู้ป่วยสูงอายุมักไวต่อยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ (sulfonamides ) มักจะมีอาการไม่พึงประสงค์ทางผิวหนังที่รุนแรง หรืออาการไม่พึงประสงค์ทางระบบเลือด

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้ร่วมอยู่ด้วย

  • พาราเซทามอล (paracetamol) ในขนาดยาสูงๆ และใช้เป็นระยะเวลานาน
  • นาลทรีโซน (naltrexone) ในขนาดยาสูงๆ และใช้เป็นระยะเวลานาน
  • กรดวาลโพรอิก (valproic acid) การใช้ร่วมกันอาจเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์ต่อตับ
  • มีเทนามีน (methenamine) การใช้ร่วมกันอาจเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์ของยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ (sulfonamides)
  • ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทาน (oral antidiabetics) การใช้ยาร่วมกันอาจเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบเลือด และ/หรือ อาการไม่พึงประสงค์ของยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทาน
  • วิตามินเค (vitamin K) การใช้ยาร่วมกันอาจเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบเลือด
  • ยาอื่น ๆ ได้แก่
อะมิโอดาโรน (amiodarone) แนนโดรโลน (nandrolone) ออกซานโดรโลน ( oxandrolone)
ออกซีเมโทโลน (oxymetholone) สตาโนโซลอล (stanozolol) ฮอร์โมนเพศชาย (androgens)
ยาต้านไทรอยด์ (antithyroid agents) คาร์บามาซีพีน (carbamazepine คาร์มัสทีน (carmustine)
คลอโรควิน (chloroquine) แดนโทรลีน (dantrolene) ดาวโนรูบิซิน (daunorubicin)
ไดซัลฟิแรม (disulfiram) ฮอร์โมนเพศหญิง (estrogens) เกลือทอง (gold salts)
เมอร์แคปโทเพียวรีน (mercaptopurine) ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน (oral contraceptive) อะซีโทเฟนาซีน (acetophenazine)
คลอร์โพรมาซีน (chlorpromazine) ฟลูเฟนาซีน (fluphenazine) เมโซริดาซีน (mesoridazine)
เพอร์เฟนาซีน (perphenazine) โพรคลอร์เพอราซีน (prochlorperazine) โพรมาซีน (promazine)
โพรเมทาซีน (promethazine) ไทออริดาซีน (thioridazine) ไทรฟลูออโรเพอราซีน (trifluoroperazine)
ไทรฟลูโพรมาซีน (triflupromazine) ไทรเมพราซีน (trimepazine) พลิคามัยซิน (plicamycin)
กรดอะซีโทไฮดรอกซามิค (acetohydroxamic acid) ฟิวราโซลิโดน (furazolidone) ไนโทรฟิวแรนทอยน์ (nitrofurantoin)
ไพรมาควิน (primaquine) โพรเคนาไมด์ (procainamide) ควินิดีน (quinidine)
ควินีน (quinine) ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) ไฮดรอกซีคลอโรควิน (hydroxychloroquine)
แดพโซน (dapsone) เมทโทเทรกเซต (methotrexate) เฟนิทอยน์ (phenytoin)
เมทิลโดพา (methyldopa)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาสูตรผสมระหว่างยากลุ่มซัลโฟนาไมด์และไทรเมโทพริม (sulfonamides and trimethoprim)ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • เลือดจาง หรือโรคอื่นทางระบบเลือด
  • ภาวะพร่องเอนไซม์กลูโคส-6-ฟอสเฟตดีไฮโดรจีเนส [glucose-6-phosphate dehydrogenase (G6PD)]
  • โรคตับหรือโรคไต
  • พอร์ฟีเรีย (porphyria) ซึ่งเป็นโรคพันธุกรรมซึ่งผู้ป่วยขาดเอนไซม์บางชนิดในการสังเคราะห์ฮีม (heme) ส่งผลให้เกิดการคั่งของพอร์เฟอริน จนมีการขับออกมากทางปัสสาวะทำให้ปัสสาวะมีสีม่วงแดง และเกิดอาการต่าง ๆ เช่นปวดท้องและผิวหนังมีความไวต่อแสงผิดปรกติ เป็นต้น

การใช้ที่ถูกต้อง

  • ควรรับประทานยาในขณะท้องว่าง (ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงหรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง)
  • ระหว่างรับประทานยานี้ควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์จากยา เว้นแต่ว่าท่านได้รับคำแนะนำให้จำกัดน้ำ
  • ยานี้จะใช้ได้ผลดีเมื่อมีระดับยาในเลือดคงที่จึงไม่ควรลืมรับประทานยา และรับประทานยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน
  • รับประทานยานี้ติดต่อกันทุกวันจนยาหมด แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม

ยาเม็ดและแคปซูล

  • กลืนยาทั้งเม็ด เเล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ

ยาน้ำแขวนตะกอน
  • เขย่าขวดก่อนรินยา

ขนาดยา

ขนาดยาของยาซัลฟาไดอาซีน (sulfadiazine) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของ แพทย์หรือเภสัชกรหรือตามที่ฉลากระบุ จำนวนครั้งของการรับประทานยาในแต่ละวัน, ระยะห่างของการรับประทานยาในแต่ละครั้งและระยะเวลาที่ท่านรับประทานยาขึ้น อยู่กับสภาวะโรคของท่าน

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมรับประทานยาให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ ถ้าใกล้ถึงมื้อต่อไปให้ข้ามมื้อที่ลืมและรับประทานยาต่อในมื้อถัดไปในขนาดยา ปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บในภาชนะปิดสนิทให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

ควรไปพบแพทย์ตามนัด การใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานอาจมีผลไม่พึงประสงค์ต่อระบบเลือด
หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรืออาการยิ่งแย่ลงกว่าเดิม ควรกลับไปพบแพทย์

  • ก่อนใช้ยาซัลฟาไดอาซีน (sulfadiazine) ควรแน่ใจก่อนว่าผู้ป่วยไม่เคยมีประวัติแพ้ยาอื่นในกลุ่มซัลโฟนาไมด์ (sulfonamides) และควรสังเกตอาการแพ้ยาอย่างใกล้ชิดถ้าผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาดังกล่าวและได้รับยาซัลฟาไดอาซีน เพราะมีโอกาสเกิดการแพ้ข้ามกันได้

  • การใช้ยาซัลฟาไดอาซีน (sulfadiazine) อาจทำให้เกิดลำไส้ใหญ่อักเสบเหตุจากยาต้านจุลชีพ (pseudomembranous colitis) ควรพบแพทย์ทันทีหากมีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือท้องร่วงรุนแรงซึ่งอาจมีเลือดปนโดยมีหรือไม่มีอาการปวดเกร็งหน้าท้องและไข้ก็ได้ และห้ามใช้ยารักษาอาการท้องร่วง โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพราะการใช้ยาแก้ท้องร่วงอาจทำให้อาการเหล่านี้ยิ่งรุนแรงขึ้น

หมายเหตุ อาการ ปวดเกร็งหน้าท้องและถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือท้องร่วงรุนแรงซึ่งอาจมีเลือดปน อาจเกิดขึ้นได้หลังจากที่หยุดใช้ยานี้แล้วเป็นเวลาหลายสัปดาห์

  • การใช้ยานี้อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้รุนแรง เช่น การตายแยกสลายของหนังกำพร้า (epidermal necrolysis), ผิวหนังอักเสบหลุดลอกเป็นแผ่น (exfoliative dermatis), กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome), การแพ้ที่เหมือนกับการแพ้เซรุ่ม (serum sickness), กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการแพ้ (allergic myocarditis)

นอกจากนี้อาจเกิดผื่นชนิดรุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังจากเริ่มใช้ยาไปแล้ว 7-14 วัน เช่น ผื่นแดง (erythematous), ผื่นนูนปนกับผื่นราบ (maculopapular), ผื่นคล้ายหัด (morbilliform) และ/หรือผื่นคัน (pruritic)

  • การใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ต่อระบบเลือด ซึ่งอาจส่งผลให้ติดเชื้อโรคบางชนิดได้ง่าย แผลหายช้า มีเลือดออกได้ง่าย ควรระมัดระวังการใช้ไหมขัดฟัน หรือไม้จิ้มฟัน และแจ้งทันตแพทย์ทุกครั้งว่าใช้ยานี้อยู่
  • การใช้ยานี้อาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสงมากขึ้น ซึ่งแสดงออกโดยผิวหนังแดงและอักเสบได้ง่ายเมื่อถูกแสงแดด ผู้ป่วยที่ต้องสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด หรือสวมเสื้อผ้าที่ป้องกันแสงแดด แว่นตากันแดด ใช้ครีมกันแดด ที่มีค่าเอสพีเอฟ (SPF) 15 ขึ้นไป ควรรีบพบแพทย์ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้น
  • ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการเกิดผลึกของยาในปัสสาวะ (crystalluria) และการเกิดนิ่ว (stone formation)

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก.พบแพทย์ทันหากมีอาการต่อไปนี้
พบบ่อย

  • ผื่นผิวหนัง คัน

พบน้อย

  • ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ, กลืนลำบาก, ซีด, ผิวหนังลอก, เจ็บคอหรือมีไข้, มีเลือดออกง่ายหรือจ้ำเลือด, เพลียเหนื่อยง่าย, ตัวเหลืองตาเหลือง

พบน้อยมาก

  • ปวดเกร็งหน้าท้อง, ท้องเสียอย่างรุนแรง อาจมีเลือดปน, ปัสสาวะเป็นเลือด,หายใจลำบาก, ปัสสาวะมากขึ้นหรือลดลง, เห็นภาพหลอน, ปวดศีรษะ, กระหายน้ำ, ปวดบั้นเอว

หมายเหตุ อาการปวดเกร็งหน้าท้องหรือท้องเสียรุนแรงซึ่งอาจมีเลือดปน อาจเกิดขึ้นได้หลังจากที่หยุดใช้ยานี้แล้วเป็นเวลาหลายสัปดาห์

ข.อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาหรือหยุดยาไปแล้วเนื่องจากร่างกายจะปรับตัว เข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

พบบ่อย

  • ท้องร่วงไม่รุนแรง, ปวดศีรษะ, เบื่ออาหาร, เจ็บปากหรือลิ้น ,คลื่นไส้อาเจียน, ผิวหนังไวต่อแสง

ค. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Silver sulfadiazine (Topical) , Sulfacetamide (Ophthalmic) , Sulfadimidine (Sulphadimidine), Sulfadimidine, Sulfadiazine, and Sulfamerazine , Sulfadoxine and Pyrimethamine , Sulfasalazine, Sulfisoxazole and Phenazopyridine , Tetracycline, Sulfamethizole, and Phenazopyridine

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Sulfadine tablets (ยาเม็ด ซัลฟาดีน), Sulfadiazine tablet (ซัลฟาไดอาซิน ชนิดเ็ม็ด), Rediazine tablet (รีไดอาซิน ชนิดเม็ด), Sulphadiazine tablet (ซัลฟาไดอาซีน ชนิดเม็ด), Sulphadiazine tablets flying crocodile "brand" (ยาเม็ด ซัลฟาไดอาซิน ตราจระเข้บิน), Rediazine syrup suspension (รีไดอาซิน น้ำเชื่อม ชนิดเเขวนตะกอน), Odiazine tablet (โอไดอาซิน ชนิดเม็ด), Sulphadiazine tablets, Sulphadiazine (for children) tablet (ซัลฟาร์ไดอาซิน ชนิดเม็ดสำหรับเด็ก), Sulfadiazine tablets 0.5 gm. (ซัลฟาไดอาซิน เม็ด), Sulfadiazine (white) tablet (ซัลฟาไดอาซิน ชนิดเ็ม็ด), Sulfadiazine (light yellow) tablet (ซัลฟาไดอาซีน (สีเหลือง) ชนิดเม็ด), Dagenan tablet (ดาจินอง ชนิดเม็ด), Sul B.C.O. suspension (ซัล บี.ซี.โอ. ขนิดเเขวนตะกอน), Sulfazine-M tablet, Shorsuldizine tablet (ชอร์ ซัลไดซิน ชนิดเม็ด)

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว.sulfadiazine . Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: May 19, 2010.
  2. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: 19 May, 2010.
  3. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: 19/5/2010).
  4. McEvoy GK, Snow EK, Miller J et al. AHFS Drug information 2009. the American Society of Health-System Pharmacists,Inc.Bestheda. 2009. p431-442
  5. Micromedex Thomson Healthcare. Advice for the Patient Drug Information in Lay Language USP DI, volume ll. 25th ed. Massachusetts: Micromedex Thomson Healthcare, 2005: p 1521-1524.
  6. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Sulfadiazine.Available at : http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a682130.html Access Date: May 19, 2010.
  7. The Merck Manuals Online medical Library The Merck Manual for Healthcare Professionals: Sulfadiazine Drug Information Provided by Lexi-Comp. Available at: http://www.merck.com/mmpe/lexicomp/neomycin.html Access Date: May 19, 2010.

ไตรรัตน์ แก้วเรือง
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
01 มิถุนายน 2553 17 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย