ค้นหายาสมุนไพร

อ่าน: 232
Small_font Large_font

กิ่งหม่อน : Sangzhi (桑枝)

คำจำกัดความ

กิ่งหม่อน หรือ ซังจือ คือ กิ่งอ่อนที่ทำให้แห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morus alba L. วงศ์ Moraceae [1]

ชื่อภาษาไทย

กิ่งหม่อน (ทั่วไป) [2]

ชื่อจีน

ซังจือ (จีนกลาง), ซึงกี (จีนแต้จิ๋ว) [1]

ชื่อภาษาอังกฤษ

Mulberry Twig [1]

ชื่อเครื่องยา

Ramulus Mori [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวกิ่งอ่อนได้ตลอดปี แต่ระยะที่เหมาะสมควรเก็บตอนต้นฤดูร้อน ริดใบออก ตากแดดให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1, 3]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 3 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 กิ่งหม่อน เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ปราศจากสิ่งปนปลอมมาล้างน้ำให้สะอาด ใส่ภาชนะหมักไว้สักครู่เพื่อให้อ่อนนุ่ม หั่นเป็นแว่นหนา ๆ นำไปตากแดดให้แห้ง [1, 4]
วิธีที่ 2 กิ่งหม่อนผัด เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่กระทะ นำไปผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งตัวยามีสีเหลือง นำออกจากเตา ตากให้แห้งในที่ร่ม [1, 4]
วิธีที่ 3 กิ่งหม่อนผัดเหล้า เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่ในภาชนะที่เหมาะสม เติมเหล้าเหลืองปริมาณพอเหมาะ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน จนกระทั่งเหล้าแทรกซึมเข้าเนื้อของตัวยา จากนั้นนำไปผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งตัวยามีสีเหลือง นำออกจากเตา ตากให้แห้งในที่ร่ม (ใช้เหล้าเหลือง 12 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [1, 4]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดีต้องเป็นกิ่งอ่อน ด้านหน้าตัดสีขาวอมเหลือง แข็งและเหนียว [3, 5]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

กิ่งหม่อน รสขม สุขุม มีฤทธิ์ขับลม ทำให้เส้นลมปราณคล่องตัว ใช้รักษาอาการปวดข้อ เส้นเอ็น หรือกล้ามเนื้อ และมีฤทธิ์คลายอาการขัดของข้อต่อ ใช้แก้อาการมือเท้าเป็นตะคริว [1]
กิ่งหัดเหม่อนผัด มีฤทธิ์ช่วยให้เส้นลมปราณแขนขาไหลเวียนดี ส่วนใหญ่ใช้รักษาอาการปวดเมื่อยและชาตามหัวไหล่และแขน [1, 4]
กิ่งหม่อนผัดเหล้า มีฤทธิ์แรงในการขับลมและระบายความชื้น ช่วยให้เส้นลมปราณไหลเวียนและระงับปวดได้ดี ใช้รักษาอาการปวดข้อต่อ แขนขาหดเกร็งหรือชักกระตุก [4]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ 9-15 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]

ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง

มีรายงานการวิจัยว่าสารสกัดกิ่งอ่อนหม่อนมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase และการสร้าง melanin แต่ไม่มีผลยับยั้งการสร้างเอนไซม์หรือต่อ gene expression ของเอนไซม์ สารสกัดนี้สามารถลดการสร้าง melanin บนผิวหนูตะเภาที่ได้รับรังสี UV ได้ โดยสารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ 2,3’,4,5’- tetrahydroxystilbene (2-oxyresveratrol) IC50 มีค่าเท่ากับ 0.23 กรัม/มิลลิลิตร ผลการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดพบว่า ไม่ทำให้เกิดพิษเมื่อทดสอบพิษเฉียบพลัน การระคายเคืองผิวหนัง การก่อให้เกิดอาการแพ้ สาร 2-oxyresveratrol มีฤทธิ์ยับยั้ง tyrosinase ได้แรงกว่า resveratrol (3,4’,5- trihydroxy-stilbene) 150 เท่า [6]

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
  2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
  3. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. สมุนไพรไทย-จีน. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2547.
  4. Gong QF. Zhongyao Paozhi Xue. 2nd ed. Beijing: National Chinese Traditional Medicine Publishing House, 2003.
  5. Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
  6. Lee KT, Lee KS, Jeong JH, et al. Inhibitory effects of Ramulus mori extracts on melanogenesis. J Cosmet Sci 2003, 54(2): 133-42.


23 มิถุนายน 2553 30 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย