อ่าน: 518
Small_font Large_font

Fludrocortisone, Neomycin, Furaltadone, Polymyxin B, and Lidocaine (Otic) (ยาสูตรผสมฟลูโดรคอร์ติโซน, นีโอมัยซิน, ฟิวราลทาโดน, โพลีมิกซิน บี และลิโดเคนชนิดหยอดหู)

คำอธิบายพอสังเขป

ยาสูตรผสมฟลูโดรคอร์ติโซน, นีโอมัยซิน, ฟิวราลทาโดน, โพลีมิกซิน บี, และลิโดเคนชนิดหยอดหู (fludrocortisone, neomycin, furaltadone, polymyxin B, and lidocaine otic preparation) ประกอบด้วยตัวยาสำคัญ

  • ฟลูโดรคอร์ติโซน (fludrocortisone) เป็นยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids) หรืออาจเรียกสั้น ๆ ว่า สเตอรอยด์ ฟลูโดรคอร์ติโซนมีฤทธิ์ลดอาการอักเสบและการแพ้เช่น อาการระคายเคือง บวม แดง คัน
  • นีโอมัยซิน (neomycin) เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (aminoglycosides) ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการสร้างโปรตีนของแบคทีเรีย
  • ฟิวราลทาโดน (furaltadone) เป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรียที่ออกฤทธิ์ได้กว้าง โดยการยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเมทาบอลิสมของคาร์โบไฮเดรต (carbohydrate metabolism) ในเซลล์แบคทีเรีย
  • โพลีมิกซิน บี (polymyxin B) รบกวนการทำหน้าที่ของเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้สารต่าง ๆ รั่วออกจากเซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย
  • ลิโดเคน อยู่ในรูปเกลือลิโดเคนไฮโดรคลอไรด์ (lidocaine hydrochloride) มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่

ยาสูตรผสมฟลูโดรคอร์ติโซน, นีโอมัยซิน, ฟิวราลทาโดน, โพลีมิกซิน บี และลิโดเคนชนิดหยอดหู
ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในช่องหูที่มีการอักเสบชนิดรุนแรงฉับพลันหรือเรื้อรัง ในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ต้องแน่ใจว่าไม่ได้เกิดจากเชื้อรา หรือไวรัส

ยาที่มีจำหน่ายได้แก่

  • ยาสูตรผสมฟลูโดรคอร์ติโซน นีโอมัยซิน ฟิวราลทาโดน โพลีมิกซิน บี และลิโดเคนชนิดหยอดหู
(fludrocortisone, neomycin, furaltadone, polymyxin B, and lidocaine ear drops)

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆหรือมีประวัติการแพ้ยาฟลูโดรคอร์ติโซน (fludrocortisone) หรือยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids) หรือ นีโอมัยซิน (neomycin) หรือยาในกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (aminoglycosides) ตัวอื่น หรือฟิวราลทาโดน (furaltadone) หรือโพลีมิกซิน บี (polymyxin B) หรือลิโดเคน (lidocain) หรือยาชาเฉพาะที่ชนิดอื่น ๆ หรือส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่น ๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

ท่านสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติเว้นแต่ว่าแพทย์ได้แจ้งท่านเป็นอย่างอื่น

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

ไม่มีการศึกษาการใช้ยาที่มีส่วนผสมของยากลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ชนิดใช้หยอดหู (otic corticosteroids) ในสตรีมีครรภ์ในมนุษย์ แต่จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนของสัตว์ทดลอง สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้

กำลังให้นมบุตร

ไม่พบว่ายากลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ ชนิดใช้หยอดหู (otic corticosteroids) ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกที่ได้รับน้ำนมมารดา อย่างไรก็ตามยากลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ ชนิดรับประทานสามารถผ่านออกทางน้ำนมได้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ในระหว่างที่ให้นมบุตร

เด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ถึงความปลอดภัย และประสิทธิผลของการใช้ยานี้ในเด็ก

ผู้สูงอายุ

ไม่พบความแตกต่างด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยระหว่างการใช้ยานี้ในผู้ป่วยสูงอายุและวัยผู้ใหญ่ช่วงอายุอื่น

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาหยอดหรือป้ายตาบริเวณเดียวกันกับยาสูตรผสมฟลูโดรคอร์ติโซน นีโอมัยซิน ฟิวราลทาโดน โพลีมิกซิน บี และลิโดเคนชนิดหยอดหู (fludrocortisone, neomycin, furaltadone, polymyxin B, and lidocaine ear drops)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยายาสูตรผสมฟลูโดรคอร์ติโซน, นีโอมัยซิน, ฟิวราลทาโดน, โพลีมิกซิน บี, และลิโดเคนชนิดหยอดหู
ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • โรคเบาหวาน
  • โรคลมชัก
  • โรคหัวใจ หลอดเลือด
  • ต้อหิน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคกระดูกพรุน
  • โรคเชื้อราในช่องหู
  • วัณโรค
  • โรคติดเชื้อไวรัสในช่องหู
  • โรคหูชั้นกลางอักเสบจากการติดเชื้อ
  • แก้วหูทะลุ เนื่องจากอาจทำให้ยาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้
  • ภาวะพร่องเอนไซม์กลูโคส-6-ฟอสเฟตดีไฮโดรจีเนส [glucose-6-phosphate dehydrogenase (G6PD)]

การใช้ที่ถูกต้อง

ขั้นตอนการใช้ยาหยอดหู

  1. หากมีหนองในหูมาก ควรทำความสะอาดช่องหูก่อนด้วยไม้พันสำลี พันเอาหนองออกให้มากที่สุด เพื่อมิให้ยาหยอดเจือจางจนเกินไป ยกเว้นในรายที่หยอดหูเพื่อละลายขี้หู ไม่ควรแคะใด ๆ เพราะจะทำให้ขี้หูเคลื่อนที่ลึกมากขึ้น
  2. หากเก็บยาไว้ในตู้เย็น ก่อนใช้ให้เอาขวดยาใส่ในฝ่ามือ และกำไว้สัก 2-3 นาที เพื่อให้อุณหภูมิของยาใกล้เคียงกับอุณหภูมิของร่างกาย
  3. เขย่าขวดก่อนใช้ยา
  4. นอนตะแคงหรือเอียงศีรษะให้หูข้างที่จะหยอดยาหันขึ้นข้างบน
  5. ดึงใบหูขึ้นบน เอนไปข้างหลังในขณะหยอดหู แล้วตะแคงศรีษะไว้นาน 5-10 นาที เพื่อให้ยาสัมผัสกับผิวหนังมากที่สุด ยาที่ไหลออกมาภายนอกสามารถเช็ดได้ แต่ไม่ควรเช็ดในรูหู ในกรณีที่แก้วหูทะลุ ยาอาจไหลเข้าไปในท่อระบายความดันที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางกับลำคอส่วนบน (Eustachian tube) ได้ ทำให้รู้สึกขมในคอจากยาที่ไหลลงคอ คล้ายกับเวลาหยอดตา ซึ่งไม่เป็นการผิดปกติแต่ประการใด
  6. หยอดยาในหูตามที่กำหนด แต่ไม่ควรเอาหลอดหยดสอดเข้าไปในรูหู เพราะหลอดหยดอาจทำให้เกิดบาดแผลต่อหูได้ และควรพยายามไม่ให้หลอดหยดสัมผัสกับสิ่งใดๆ เพื่อป้องกันสิ่งปนเปื้อนเข้าไปในยา
  7. นอนตะแคงหรือเอียงศีรษะอยู่ในท่าเดิม 3-5 นาที
  8. ถ้ารูหูบวมมาก ไม่แน่ใจว่าจะหยอดยาผ่านเข้าไปได้หรือไม่ ควรใช้สำลีปั่นเป็นเส้นเล็ก ๆ ยาว ๆ แล้วสอดเข้าไปในรูหู เพื่อหยอดยาผ่านสำลีนี้ และควรเปลี่ยนสำลีนี้ทุกวันจนกระทั่งรูหูกว้างพอที่จะหยอดยาได้ตามปกติ
  9. หากมีผื่น บวมแดง ปวดหูมากขึ้น เวียนศีรษะ หูอื้อมากขึ้นให้หยุดยาแล้วนำยาที่ใช้ไปปรึกษาแพทย์ทันที

ขนาดยา

ขนาดยาของยาสูตรผสมฟลูโดรคอร์ติโซน, นีโอมัยซิน, ฟิวราลทาโดน, โพลีมิกซินบี และลิโดเคนชนิดหยอดหู (fludrocortisone, neomycin, furaltadone, polymyxin B, and lidocaine ear drops) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามใบสั่งยาของแพทย์หรือตามที่ฉลากระบุ

เมื่อลืมใช้ยา

ถ้าลืมหยอดหู ให้หยอดทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าเกือบจะถึงเวลาที่จะหยอดครั้งต่อไป ก็ไม่ต้องหยอดครั้งที่ลืม แต่รอหยอดยาครั้งต่อไปได้เลย

การเก็บรักษา

  • เก็บยาให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ให้เก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส แต่ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็ง
  • ห้ามใช้ยาหลังวันสิ้นอายุของยาที่แสดงไว้บนฉลาก หากไม่ระบุเป็นอย่างอื่น วันสิ้นอายุของยา หมายถึง วันสุดท้ายของเดือนที่แสดงบนฉลาก
  • ยาที่ผลิตจากแต่ละบริษัทอาจมีวิธีการเก็บยาแตกต่างกัน ให้อ่านวิธีการเก็บยาโดยละเอียดจากฉลากยาด้วย

ข้อควรระวัง

หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 5-7 วัน หรืออาการยิ่งแย่ลงกว่าเดิม ควรกลับไปพบแพทย์

  • ก่อนใช้ยาที่มีส่วนผสมของนีโอมัยซิน (neomycin) ควรแน่ใจก่อนว่าผู้ป่วยไม่เคยมีประวัติแพ้ยาอื่นในกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (aminoglycosides) เช่น ฟรามัยซีติน (framycetin), เจนตาไมซิน (gentamicin) และควรสังเกตอาการแพ้ยาอย่างใกล้ชิดถ้าผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาดังกล่าวได้รับยานีโอมัยซิน เพราะมีโอกาสเกิดการแพ้ข้ามกันได้
  • การใช้ยาเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการดื้อยาและการเจริญมากไปของเชื้อที่ดื้อยาได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ซ้ำซ้อนได้ (superinfection)
  • หากการติดเชื้อแบคทีเรียยังไม่ดี หรือขยายกว้างขึ้นให้หยุดยา
  • การติดเชื้อแบคทีเรียอาจขยายกว้างขึ้นโดยไม่สามารถทราบได้ เนื่องจากผลของยาฟลูโดรคอร์ติโซน (fludrocortisone) บดบังอาการไว้

  • ยาที่มีวางจำหน่ายอาจมีส่วนผสมของสารกันเสีย พาราเบน (paraben) ซึ่งอาจทำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัส (allergic contact dermatitis) ได้
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก เนื่องจากอาจมีผลกดการทำงานของต่อมหมวกไต แม้ว่าจะไม่ได้ปิดคลุมแผลก็ตาม
  • หากหยอดยานี้มากเกินไป และหยอดติดต่อกันนานเกินไป อาจทำให้มีการดูดซึมฟลูโดรคอร์ติโซนเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดภาวะกดการทำงานของต่อมไฮโปทาลามัส-พิทูอิทา รี-ต่อมหมวกไต (hypothalamic-pituitary-adrenal axis suppression) ซึ่งอาจแสดงออกโดยกลุ่มอาการคุชชิ่ง (Cushing’s syndrome) ซึ่งทำให้มีความผิดปกติหลายอย่าง เช่น บวมน้ำ น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว หน้ากลมเหมือนดวงจันทร์ มีโหนกตรงต้นคอ, น้ำตาลในเลือดสูง และมีน้ำตาลออกมากับปัสสาวะ (glucosuria)
  • อาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น พิษต่อไต พิษต่อหู เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ได้รับยานีโอมัยซิน (neomycin) หรือยาโพลีมิกซิน บี (polymyxin B) รูปแบบฉีด การดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายจะเพิ่มมากขึ้นจนเกิดอาการข้างเคียงเหล่านี้อาจจะเกิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  • อาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก หรือชัก อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ได้รับยาลิโดเคน (lidocaine) รูปแบบฉีด ควรระมัดระวังในการใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงบางอย่างที่ไม่ต้องการ ถึงแม้ว่าอาการข้างเคียงต่อไปนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมด แต่หากเกิดอาการข้างเคียงขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. พบแพทย์ทันทีหากมีอาการต่อไปนี้
พบไม่บ่อย

  • ตาพร่า
  • ปวดศีรษะ
  • ความดันโลหิตสูง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ติดเชื้อราในช่องหู

พบน้อย

  • คัน, แดง, บวม , ระคายเคืองโดยไม่เคยเป็นมาก่อน

ข.อาการข้างเคียงอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการข้างเคียงเหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาหรือหยุดยาไปแล้วเนื่องจากร่างกายจะปรับตัว เข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการข้างเคียงเหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน
พบน้อย

  • รู้สึกแสบร้อนในหู

ค. อาการข้างเคียงอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการข้างเคียงอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Betamethasone and Clioquinol (Topical), Betamethasone, Gentamicin, Tolnaftate and Clioquinol (Topical), Chloramphenicol , Chloramphenicol (Ophthalmic) , Chloramphenicol (Otic), Chloramphenicol (Topical), Clindamycin (Oral), Clindamycin (Topical), Clioquinol (Topical) , Dexamethasone and Chloramphenicol (Ophthalmic) , Dexamethasone, Chloramphenicol and Tetrahydrozoline (Ophthalmic), Dexamethasone, Framycetin and Gramicidin (Ophthalmic), Dexamethasone, Framycetin and Gramicidin (Otic), Dexamethasone, Neomycin and Polymyxin B (Ophthalmic) , Hydrocortisone and Chloramphenicol (Topical) , Linezolid , Metronidazole (Oral), Metronidazole (Topical), Metronidazole (Vaginal), Neomycin, Clioquinol, and Bacitracin (Topical) , Nitrofurantoin, Oxytetracycline and Polymyxin B (Ophthalmic), Oxytetracycline and Polymyxin B (Topical), Prednisolone and Chloramphenicol (Topical) , Prednisolone and Nitrofurazone (Topical) , Prednisolone, Chloramphenicol and Naphazoline (Ophthalmic) , Prednisolone, Nitrofurazone and Lidocaine (Topical) , Trimethoprim, Betamethasone and Gentamicin (Topical) , Betamethasone and Neomycin (Ophthalmic) , Betamethasone and Neomycin (Otic) , Betamethasone and Neomycin (Topical) , Desoximetasone, Framycetin and Gramicidin (Topical) , Dexamethasone and Gentamicin (Ophthalmic) , Dexamethasone and Gentamicin (Otic) , Dexamethasone and Neomycin (Ophthalmic) , Dexamethasone and Neomycin (Otic) , Dexamethasone and Neomycin (Topical) , Dexamethasone and Tobramycin (Ophthalmic) , Fluocinolone acetonide and Gentamicin (Topical) , Fluocinolone acetonide and Neomycin (Topical) , Gentamicin (Ophthalmic) , Gentamicin (Otic), Gentamicin (Topical) , Hydrocortisone and Neomycin (Ophthalmic) , Hydrocortisone and Neomycin (Topical) , Neomycin (Oral) , Neomycin and Bacitracin (Topical) , Neomycin, Polymyxin B, and Bacitracin (Topical) , Neomycin, Polymyxin B, and Gramicidin (Ophthalmic) , Prednisolone and Gentamicin (Otic) , Prednisolone and Neomycin (Ophthalmic) , Prednisolone and Neomycin (Otic) , Prednisolone and Neomycin (Topical) , Tobramycin (Ophthalmic) , Triamcinolone acetonide, Neomycin, Gramicidin and Nystatin (Topical), Dexamethasone and Ciprofloxacin (Otic) , Hydrocortisone and Ciprofloxacin (Otic)

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

S.M. OTO ear drops (เอส.เอ็ม. ออโต ยาหยอดหู), Otosamthong ear drops (ออโตสามธง ยาหยอดหู)

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว.Neomycin . Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: May 7, 2010.
  2. สุชาดา ชุติมาวรพันธ์, โพยม วงศ์ภูวรักษ์, อภิฤดี เหมะจุฑา. คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (พ.ศ.2550). สภาเภสัชกรรม. หน้า 66-91.
  3. Dailymed current medication information . Fludrocortisone . Available at: http://0-dailymed.nlm.nih.gov.www.elgar.govt.nz/dailymed/about.cfm Date: Oct 12, 2010.
  4. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: 4/11/2010).
  5. McEvoy GK, Snow EK, Miller J et al. AHFS Drug information 2009. the American Society of Health-System Pharmacists,Inc.Bestheda. 2009. p3512
  6. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Corticosteroids (Otic) Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.
  7. Micromedex Thomson Healthcare. Advice for the Patient Drug Information in Lay Language USP DI, volume ll. 25th ed. Massachusetts: Micromedex Thomson Healthcare, 2005: p 857-858.

ไตรรัตน์ แก้วเรือง
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
01 กุมภาพันธ์ 2554 21 มีนาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย