อ่าน: 1411
Small_font Large_font

Chloramphenicol (Otic) (คลอแรมเฟนิคอลชนิดหยอดหู)

คำอธิบายพอสังเขป

คลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol ) เป็นยาต้านแบคทีเรีย ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ไวต่อยานี้ คลอแรมเฟนิคอลชนิดใช้หยอดหู (otic chloramphenicol) ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในช่องหู โดยอาจใช้ร่วมกับยาหยอดหูหรือยารับประทานอื่น ๆได้

  • ยานี้ไม่ได้ผลต่อเชื้อไวรัสหรือเชื้อราในโรคติดเชื้อในช่องหู

ยามีจำหน่ายในรูปแบบ

  • คลอแรมเฟนิคอลชนิดหยอดหู (chloramphenicol otic solution)

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆหรือมีประวัติการแพ้ยาคลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol ) ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

ท่านสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติเว้นแต่ว่าแพทย์ได้แจ้งท่านเป็นอย่างอื่น

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการศึกษาการใช้สารละลายคลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol otic solution) ในหญิงตั้งครรภ์ แต่การใช้ยานี้ในระหว่างตั้งครรภ์ หรือระหว่างคลอดอาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อทารก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้

กำลังให้นมบุตร

คลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol) สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมได้ มารดาที่ได้รับยานี้ไม่ควรให้นมบุตร

เด็ก

เด็กมักจะไวต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยากว่าผู้ใหญ่ โดยอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการเกรย์ (Gray syndrome) ซึ่งมีอาการอาเจียน ท้องอืด ไม่ดูดนม ตัวเขียว เนื้อตัวอ่อนปวกเปียก ความดันต่ำ ตัวเย็น หมดสติอาจตายใน 2-3 ชั่วโมง
การใช้ยาในเด็กจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ผู้สูงอายุ

ยาหลายชนิดยังไม่มีการศึกษาในผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงยังไม่ทราบผลที่แท้จริงว่าเป็นเช่นเดียวกันกับผู้ป่วยวัยอื่นหรือไม่ รวมทั้งยังไม่ทราบว่ายานี้ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์, ปัญหาใด ๆ ที่แตกต่างกันในผู้สูงอายุกับวัยอื่นหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเปรียบเทียบการใช้ยาคลอแรมเฟนิคอลชนิดใช้หยอดหู (otic chloramphenicol) ในผู้สูงอายุกับวัยอื่นๆ

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาหยอดบริเวณเดียวกันกับยาคลอแรมเฟนิคอลชนิดใช้หยอดหู (otic chloramphenicol)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาคลอแรมเฟนิคอลชนิดใช้หยอดหู (otic chloramphenicol)
ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • มีโรคติดเชื้ออื่น ๆ ในช่องหู หรือมีปัญหาอื่นๆที่เกิดขึ้นกับช่องหู เช่น แก้วหูทะลุ เป็นต้น เนื่องจากอาจทำให้ยาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้

การใช้ที่ถูกต้อง

  1. หากมีหนองในหูมาก ควรทำความสะอาดช่องหูก่อนด้วยไม้พันสำลี พันเอาหนองออกให้มากที่สุด เพื่อมิให้ยาหยอดเจือจางจนเกินไป ยกเว้นในรายที่หยอดหูเพื่อละลายขี้หู ไม่ควรแคะใด ๆ เพราะจะทำให้ขี้หูเคลื่อนที่ลึกมากขึ้น
  2. ดึงใบหูขึ้นบน เอนไปข้างหลังในขณะหยอดหู แล้วตะแคงศรีษะไว้นาน 5-10 นาที เพื่อให้ยาสัมผัสกับผิวหนังมากที่สุด ยาที่ไหลออกมาภายนอกสามารถเช็ดได้ แต่ไม่ควรเช็ดในรูหู ในกรณีที่แก้วหูทะลุ ยาอาจไหลเข้าไปในท่อระบายความดันที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางกับลำคอส่วนบน (eustachian tube) ได้ ทำให้รู้สึกขมในคอจากยาที่ไหลลงคอ คล้ายกับเวลาหยอดตา ซึ่งไม่เป็นการผิดปกติแต่ประการใด
  3. ยาที่แช่เย็นไว้ ก่อนหยอดควรนำมาไว้ในอุณหภูมิร่างกาย เช่น ในกระเป๋าเสื้อสักครู่มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดอาการเวียนศรีษะได้
  4. ถ้ารูหูบวมมาก ไม่แน่ใจว่าจะหยอดยาผ่านเข้าไปได้หรือไม่ ควรใช้สำลีปั่นเป็นเส้นเล็กๆ ยาวๆแล้วสอดเข้าไปในรูหู เพื่อหยอดยาผ่านสำลีนี้ และควรเปลี่ยนสำลีนี้ทุกวันจนกระทั่งรูหูกว้างพอที่จะหยอดยาได้ตามปกติ
  5. หากมีผื่น บวมแดง ปวดหูมากขึ้น เวียนศีรษะ หูอื้อมากขึ้นให้หยุดยาแล้วนำยาที่ใช้ไปปรึกษาแพทย์ทันที
  6. เพื่อให้ได้ผลดี ควรใช้ยานี้จนครบเวลาการรักษา ถึงแม้ว่าอาการของท่านจะดีขึ้นหลังจากใช้ยาไม่กี่วันก็ตาม หากท่านหยุดใช้ยานี้เร็วเกินไป อาจจะกลับมามีอาการใหม่ และ ไม่ควรลืมใช้ยา

ขนาดยา

ขนาดยาของยาคลอแรมเฟนิคอลชนิดใช้หยอดหู (otic chloramphenicol) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกร หรือตามที่ฉลากระบุ

เมื่อลืมใช้ยา

ถ้าลืมหยอดหู ให้หยอดทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าเกือบจะถึงเวลาที่จะหยอดครั้งต่อไป ก็ไม่ต้องหยอดครั้งที่ลืม แต่รอหยอดยาครั้งต่อไปได้เลย

การเก็บรักษา

  • เก็บให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็ง
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรืออาการยิ่งแย่ลงกว่าเดิม ควรกลับไปพบแพทย์

  • การใช้ยาเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการดื้อยาและการเจริญมากไปของเชื้อที่ดื้อยาได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ซ้ำซ้อนได้ (superinfection)

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. พบแพทย์ทันทีหากมีอาการต่อไปนี้
พบน้อยมาก——อาจเกิดหลังหยุดยาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน

  • ผิวหนังเป็นสีน้ำเงินหรือซีด, ความดันเลือดหรืออัตราการเต้นของหัวใจเปลี่ยนไป, เบื่ออาหาร, เจ็บคอและมีไข้,ท้องอืดโดยมีอาเจียนร่วมหรือไม่ก็ได้ , มีเลือดออกหรือจ้ำเลือด, อ่อนเพลีย

ข. พบแพทย์โดยเร็วหากมีอาการต่อไปนี้
พบน้อย

  • การมองเห็นเปลี่ยนไป หรือสูญเสียการมองเห็น, รู้สึกแสบร้อน คัน บวม หรือมีการระคายเคืองโดยไม่เคยเป็นมาก่อน, ท้องเสีย ,ไข้, ปวดศีรษะ, ปวดท้อง, คลื่นไส้อาเจียน

ค. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Betamethasone and Clioquinol (Topical), Betamethasone, Gentamicin, Tolnaftate and Clioquinol (Topical), Chloramphenicol , Chloramphenicol (Ophthalmic) , Chloramphenicol (Topical), Clindamycin (Oral), Clindamycin (Topical), Clioquinol (Topical) , Dexamethasone and Chloramphenicol (Ophthalmic) , Dexamethasone, Chloramphenicol and Tetrahydrozoline (Ophthalmic), Dexamethasone, Framycetin and Gramicidin (Ophthalmic), Dexamethasone, Framycetin and Gramicidin (Otic), Dexamethasone, Neomycin and Polymyxin B (Ophthalmic) , Fludrocortisone, Neomycin, Furaltadone, Polymyxin B, and Lidocaine (Otic), Hydrocortisone and Chloramphenicol (Topical) , Linezolid , Metronidazole (Oral), Metronidazole (Topical), Metronidazole (Vaginal), Neomycin, Clioquinol, and Bacitracin (Topical) , Nitrofurantoin, Oxytetracycline and Polymyxin B (Ophthalmic), Oxytetracycline and Polymyxin B (Topical), Prednisolone and Chloramphenicol (Topical) , Prednisolone and Nitrofurazone (Topical) , Prednisolone, Chloramphenicol and Naphazoline (Ophthalmic) , Prednisolone, Nitrofurazone and Lidocaine (Topical) , Trimethoprim

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Antibi-otic ear drops (ยาหยอดหู แอนตี้ไบ-โอติค ), Silmycetin (ear drops) (ซิลไมเซติน (เอีย ดร๊อพ) ยาหยอดหู), Vanafen otologic (ear drops) (วานาเฟน ยาหยอดหู), Cobal-brywood ear drops (ยาหยอดหู โคบาล-ไบร์วู๊ด ), Pharmacetin otic solution (ฟาร์มาซีติน ยาหยอดหู ), Vanafen otologic solution 0.5% (วานาเฟน น้ำยาสำหรับใช้หยอดหู 0.5 % ), Vanafen otologic solution 5% (วานาเฟน (น้ำยาสำหรับใช้หยอดหู 5%) ), Oticin ear drops (โอติซิน ยาหยอดหู)

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว. Chloramphenicol. Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: April 13, 2010.
  2. สุชาดา ชุติมาวรพันธ์, โพยม วงศ์ภูวรักษ์, อภิฤดี เหมะจุฑา. คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (พ.ศ.2550). สภาเภสัชกรรม. หน้า 66-91.
  3. Dailymed current medication information. Chloramphenicol. Available at: http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?id=3927 Access Date: May 17, 2010.
  4. MedlinePlus Trusted Health Information for You.Chloramphenicol (Otic) .Available at : www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a601013.html. Access Date: May 3, 2010.
  5. Micromedex Thomson Healthcare. Advice for the Patient Drug Information in Lay Language USP DI, volume ll. 25th ed. Massachusetts: Micromedex Thomson Healthcare, 2005: p 426-427.

ไตรรัตน์ แก้วเรือง
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
24 พฤษภาคม 2553 12 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย