อ่าน: 2171
Small_font Large_font

Triamcinolone acetonide and Miconazole (Topical) (ยาสูตรผสมไทรแอมซิโนโลนแอซีโทไนด์ และไมโคนาโซลชนิดใช้กับผิวหนัง)

คำอธิบายพอสังเขป

ยาสูตรผสมไทรแอมซิโนโลนแอซีโทไนด์ และไมโคนาโซลชนิดใช้กับผิวหนัง (triamcinolone acetonide and miconazole topical preparations) ประกอบด้วยตัวยาสำคัญคือ

  • ไทรแอมซิโนโลน (triamcinolone) เป็นยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids)หรืออาจเรียกสั้น ๆ ว่า สเตอรอยด์ หรือ สเตียรอยด์ อยู่ในรูปแอซีโทไนด์เอสเทอร์ (acetonide ester) ไทรแอมซิโนโลน มีฤทธิ์ลดอาการอักเสบและการแพ้เช่น อาการระคายเคือง บวม แดง คัน
  • ไมโคนาโซล (miconazole) เป็นยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล (azole antifungals) มีผลต้านเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคกลากผิวหนัง, ยีสต์ (yeast) เช่น แคนดิดา, ราที่มีลักษณะคล้ายยีสต์ และเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคเกลื้อน รวมทั้งเชื้อราอื่น ๆ อีกหลายชนิด

ยาสูตรผสมไทรแอมซิโนโลนแอซีโทไนด์และไมโคนาโซลชนิดใช้กับผิวหนัง ใช้ในการรักษาเชื้อราที่เกิดกับผิวหนังที่มีการอักเสบและ/หรืออาการคันของผิวหนังร่วมด้วย ใช้ทารักษาโรคผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า โรคผิวหนังที่โคนขาหนีบ รักแร้ และข้อ
พับ เป็นต้น

ยาที่มีจำหน่าย ได้แก่

  • ยาสูตรผสมไทรแอมซิโนโลนแอซีโทไนด์ และไมโคนาโซลชนิดครีม (triamcinolone acetonide and miconazole cream)

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีประวัติการแพ้ไทรแอมซิโนโลน (triamcinolone) หรือไมโคนาโซล (miconazole) หรือ ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids) หรือ ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล (azole antifungals)ตัวอื่น หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

ท่านสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติเว้นแต่ว่าแพทย์ได้แจ้งท่านเป็นอย่างอื่น

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

ยาสูตรผสมไทรแอมซิโนโลนแอซีโทไนด์และไมโคนาโซลชนิดใช้กับผิวหนัง (triamcinolone acetonide and miconazole topical preparations) เป็นบริเวณกว้างขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการดูดซึมยา ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลในมนุษย์ชัดเจนว่ายาทาผิวหนังชนิดนี้มีผลต่อทารกในครรภ์อย่าไง หากมีความจำเป็นต้องใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร

กำลังให้นมบุตร

หากท่านกำลังให้นมบุตร ไม่ควรทายาสูตรผสมไทรแอมซิโนโลนแอซีโทไนด์ และไมโคนาโซลชนิดใช้กับผิวหนัง (triamcinolone acetonide and miconazole topical preparations) บริเวณหน้าอก และแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบว่าท่านกำลังให้นมบุตร ห้ามใช้ทาผิวหนังในบริเวณกว้างและเป็นเวลานาน

เด็ก

ผู้ป่วยเด็กอาจจะมีความไวต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากคอร์ติโคสเตอรอยด์ชนิดใช้กับผิวหนัง (topical corticosteroids) โดยยากดการทำงานของต่อมไฮโปทาลามัส-พิทูอิทารี-ต่อมหมวกไต (hypothalamic-pituitary-adrenal axis suppression) ซึ่งอาจแสดงออกโดยกลุ่มอาการคุชชิ่ง (Cushing’s syndrome) และทำให้มีความผิดปกติหลายอย่าง เช่น บวมน้ำ น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว หน้ากลมเหมือนดวงจันทร์ มีโหนกตรงต้นคอ นอกจากนี้ยังทำให้น้ำตาลในเลือดสูง และมีน้ำตาลออกมากับปัสสาวะ (glucosuria) เนื่องจากเด็กมีอัตราส่วนระหว่างพื้นที่ผิวหนังต่อน้ำหนักตัวที่มากกว่าผู้ใหญ่
ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ เนื่องจากยาอาจถูกดูดซึมผ่านผิวหนังอาจทำให้เกิดปัญหาการเจริญเติบโตและ อาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวได้

ผู้สูงอายุ

อาการไม่พึงประสงค์บางอย่าง เช่น ผิวแตก หรือมีตุ่มพอง อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยสูงอายุ เนื่องจากผิวหนังมักจะบางกว่าผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ทั่วไป

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาที่ทาบริเวณเดียวกันกับยาสูตรผสมไทรแอมซิโนโลนแอซีโทไนด์และไมโคนาโซลชนิดใช้กับผิวหนัง (triamcinolone acetonide and miconazole topical preparations)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาสูตรผสมไทรแอมซิโนโลนแอซีโทไนด์และไมโคนาโซลชนิดใช้กับผิวหนัง (triamcinolone acetonide and miconazole topical preparations)
ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • เบาหวาน
  • โรคไต
  • วัณโรค
  • ต้อหิน
  • ผิวหนังอักเสบจากผ้าอ้อม (diaper dermatitis)
  • แผลติดเชื้อไวรัส เช่น เริม สุกใส
  • ภาวะที่ผิวหนังบางจนเกิดรอยฟกช้ำได้ง่าย เนื่องจากการใช้ยาอาจทำให้มีอาการแย่ลง

การใช้ที่ถูกต้อง

การใช้ยารูปแบบครีม (cream)

  • ก่อนใช้ยาควรทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะทาให้สะอาด
  • ทายาบางๆ ให้ทั่วบริเวณที่เป็นโรค
  • สำหรับการติดเชื้อราบริเวณระหว่างนิ้ว ให้ใช้ครีมป้ายลงบนผ้าก๊อซ แล้วหนีบไว้ระหว่างนิ้วของบริเวณที่ต้องการจะรักษา
  • ควรระมัดระวังไม่ให้ยานี้เข้าไปในตา จมูก ปากหรือเยื่อเมือกอื่น ๆ
  • เมื่ออาการอักเสบของโรคผิวหนังดีขึ้น อย่างช้าที่สุดคือ 2 สัปดาห์ อาจเปลี่ยนการรักษาต่อไปด้วยยาต้านเชื้อรา ซึ่งไม่มีส่วนประกอบของคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคบริเวณใบหน้า ขาหนีบ หรืออวัยวะสืบพันธุ์
  • ไม่ควรปิดบริเวณที่ทายาด้วยผ้าพันแผล

ขนาดยา

ขนาดยาของยาสูตรผสมไทรแอมซิโนโลนแอซีโทไนด์ และไมโคนาโซลชนิดใช้กับผิวหนัง (triamcinolone acetonide and miconazole topical preparations) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรหรือตามที่ฉลากระบุ
จำนวนครั้งของการใช้ยาในแต่ละวัน, ระยะห่างของการทายาในแต่ละครั้ง, ระยะเวลาที่ใช้ยาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมทายาให้รีบทาทันทีที่นึกได้ อย่างไรก็ตามหากใกล้ถึงการทายาครั้งต่อไป ให้ทายาครั้งต่อไปได้เลย

การเก็บรักษา

  • เก็บยาให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็ง
  • ห้ามใช้ยาหลังวันสิ้นอายุของยาที่แสดงไว้บนฉลาก หากไม่ระบุเป็นอย่างอื่น
วันสิ้นอายุของยาหากมิได้ระบุวันที่ จะหมายถึง วันสุดท้ายของเดือนที่แสดงบนฉลาก

ข้อควรระวัง

หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 7-14 วันหรืออาการยิ่งแย่ลงกว่าเดิม ควรกลับไปพบแพทย์

  • ก่อนใช้ยาที่มีส่วนผสมของไมโคนาโซล (miconazole) ควรแน่ใจก่อนว่าผู้ป่วยไม่เคยมีประวัติแพ้ยาอื่นในกลุ่มยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล (azole antifungals) เช่น คีโทโคนาโซล (ketoconazole), อีโคนาโซล (econazole), โคลทริมาโซล (clotrimazole) และ ไอโซโคนาโซล (isoconazole) และควรสังเกตอาการแพ้ยาอย่างใกล้ชิดถ้าผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยาดังกล่าวและ ได้รับยาไมโคนาโซลเพราะมีโอกาสเกิดการแพ้ข้ามกันได้
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในปริมาณมากเกินไป หรือใช้ในระยะเวลานานกว่าที่แพทย์ หรือเภสัชกรแนะนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่มีผิวหนังบาง เช่น หน้า รักแร้ หรือ ขาหนีบ เนื่องจากอาจทำให้ผิวหนังยิ่งบางลง และเพิ่มการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก เนื่องจากอาจมีผลกดการทำงานของต่อมหมวกไต แม้ว่าจะไม่ได้ปิดคลุมแผลก็ตาม
  • หากต้องทายาบริเวณเปลือกตา ต้องระมัดระวังไม่ให้ยาเข้าตา เพราะอาจทำให้เกิดต้อหินได้
  • การติดเชื้อรายอาจขยายกว้างขึ้นโดยไม่สามารถทราบได้ เนื่องจากผลของยาไทรแอมซิโนโลน (triamcinolone) บดบังอาการไว้
  • หากการติดเชื้อรายังไม่ดี หรือขยายกว้างขึ้นให้หยุดยา
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอ้อม หรือผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่มีขนาดเล็กเกินไป หากต้องทายาบริเวณก้น เนื่องจากอาจเพิ่มการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย และเกิดอาการไม่พึงประสงค์ตามมาได้
  • การใช้ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids) ในปริมาณมากและเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดเซลล์ผิวหนังฝ่อเฉพาะที่ เช่น ผิวหนังบาง ผิวหนังแตกลาย และมีการขยายตัวของหลอดเลือดใกล้ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณที่มีการปิดคลุมแผลหรือบริเวณซอกพับของผิวหนัง
  • มีรายงานการเกิดผิวหนังไหม้ คัน การเปลี่ยนแปลงของสีผิว การเกิดภาวะขนดก และผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส (contact dermatitis) เมื่อใช้ยาทากลุ่มสเตอรอยด์
  • การรักษาโรคเรื้อนกวางด้วยยากลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids) อาจทำให้เกิดตุ่มหนองของโรคได้ แต่พบได้น้อย
  • การทายานี้ในปริมาณมาก เป็นบริเวณกว้างและเป็นเวลานาน อาจทำให้มีการดูดซึมยาไทรแอมซิโนโลน (triamcinolone) เข้าสู่ร่างกายและยากดการทำงานของต่อมไฮโปทาลามัส-พิทูอิทารี-ต่อมหมวกไต (hypothalamic-pituitary-adrenal axis suppression) ซึ่งอาจแสดงออกโดยกลุ่มอาการคุชชิ่ง (Cushing’s syndrome)ซึ่งทำให้มีความผิดปกติหลายอย่าง เช่น บวมน้ำ น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว หน้ากลมเหมือนดวงจันทร์ มีโหนกตรงต้นคอ นอกจากนี้ยังทำให้น้ำตาลในเลือดสูง และมีน้ำตาลออกมากับปัสสาวะ
  • ห้ามทายานี้ในผู้ป่วยที่มีปฏิกิริยาทางผิวหนังที่เนื่องมาจากการฉีดวัคซีน ต่าง ๆ อาการแสดงทางโรคผิวหนังจากวัณโรค ซิฟิลิส โรคติดเชื้อไวรัส (เช่น โรคสุกใส) โรคหัดกุหลาบ (rosaceae) และผิวหนังอักเสบบริเวณรอบริมฝีปาก เนื่องจากอาจทำให้สภาวะโรคเลวร้ายยิ่งขึ้น

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ถึงแม้ว่าอาการไม่พึงประสงค์ต่อไปนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมด แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม
ก. พบแพทย์โดยเร็วหากมีอาการต่อไปนี้
พบไม่บ่อย

  • ตุ่มพุพองมีเลือดภายใน
  • แสบร้อน และคันผิวหนัง
  • แผลหายช้า
  • รูขุมขนอักเสบ
  • ผิวหนังติดเชื้อง่าย
  • ผิวหนังบาง มีจ้ำเลือด

ข. อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้อาจเกิดขึ้นหากใช้ยาไม่ถูกต้อง หรือใช้ยาเป็นระยะเวลานาน
พบน้อย

  • สิว หรือหน้ามัน
  • ตาพร่า หรือปวดตา หากใช้ทาใกล้ดวงตา
  • ความดันโลหิตสูง
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ
  • ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ
  • หน้ากลม
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักขึ้น หรือลดอย่างรวดเร็ว
  • ผิวหนังแตกลาย
  • ขนดก
  • ผิวหนังรอบปากอักเสบ
  • ปวดท้อง
  • ขาบวม เท้าบวม
  • มีจ้ำเลือด
  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

ค.อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาหรือหยุดยาไปแล้วเนื่องจากร่างกายจะปรับตัว เข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน
พบไม่บ่อย

  • ผิวแห้ง
  • ผิวหนังแดง คัน

ง. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการข้างเคียงอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการกลับมาติดเชื้อซ้ำ เสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ชุดชั้นใน และอื่นโดยเฉพาะที่เป็นผ้าฝ้าย ควรจะเปลี่ยนทุกวัน และทำความสะอาดด้วยน้ำร้อนหรือการต้ม
  • สิ่งสำคัญที่จะทำให้การรักษาด้วยยาเกิดผลสำเร็จ คือ การรักษาสุขอนามัยอย่างสม่ำเสมอ ในการรักษาโรคติดเชื้อราบริเวณเท้า ต้องทำให้บริเวณระหว่างนิ้วแห้งหลังจากการล้างเท้า และควรเปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Betamethasone and Clioquinol (Topical), Betamethasone and Clotrimazole (Topical) , Betamethasone and Miconazole (Topical) , Betamethasone and Tolnaftate (Topical) , Clioquinol (Topical) , Clotrimazole (Topical) , Econazole (Topical) , Hydrocortisone and Clotrimazole (Topical) , Hydrocortisone and Miconazole (Topical) , Isoconazole (Topical) , Isoconazole and Diflucortolone (Topical) , Ketoconazole (Topical) , Miconazole (Topical) , Neomycin, Clioquinol, and Bacitracin (Topical) , Nystatin (Oral), Nystatin (Topical ), Nystatin (Vaginal), Tioconazole (Topical) , Tolnaftate (Topical), Triamcinolone acetonide and Econazole (Topical) , Triamcinolone acetonide, Neomycin, Gramicidin and Nystatin (Topical), Amcinonide (Topical) , Betamethasone (Topical) , Betamethasone and Calcipotriol (Topical) , Betamethasone and Fusidic acid (Topical) , Betamethasone and Gentamicin (Topical) , Betamethasone and Neomycin (Topical) , Betamethasone and Salicylic acid (Topical) , Betamethasone, Gentamicin, Tolnaftate and Clioquinol (Topical), Clobetasol propionate (Topical) , Desoximetasone (Topical) , Desoximetasone, Framycetin and Gramicidin (Topical) , Dexamethasone and Neomycin (Topical) , Fluocinolone acetonide (Topical) , Fluocinolone acetonide and Gentamicin (Topical) , Fluocinolone acetonide and Neomycin (Topical) , Hydrocortisone (Topical) , Hydrocortisone and Chloramphenicol (Topical) , Hydrocortisone and Fusidic acid (Topical) , Hydrocortisone and Mepyramine (Topical) , Hydrocortisone and Neomycin (Topical) , Mometasone furoate (Topical) , Prednicarbate (Topical) , Prednisolone (Topical) , Prednisolone and Chloramphenicol (Topical) , Prednisolone and Neomycin (Topical) , Prednisolone and Nitrofurazone (Topical) , Prednisolone, Nitrofurazone and Lidocaine (Topical) , Triamcinolone acetonide (Topical)

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Fungisil - T cream (ฟุงกิซิล-ที ครีม), Lymarin cream (ไลมาริน ครีม), Timi cream (ทีมี ครีม), Tara-plus cream (ทารา - พลัส ครีม), Kelaplus cream (คีลาพลัส ครีม), Micasone cream (ไมคาโซนครีม), Minazole cream (ไมนาโซล ครีม), Trimicon (cream) (ไตรไมคอน (ครีม)), Noxraxin - T 0.1% cream (น็อกราซิน - ที 0.1% ครีม), Noxraxin - T 0.2% cream (น็อกราซิน - ที 0.2% ครีม), Cena cream (ซีนา ครีม), Lionazole cream (ไลโอนาโซล ครีม), Nova cream (โนวา ครีม)

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว. Miconazole. Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: Jan 7, 2010.
  2. Dailymed current medication information . Triamcinolone. Available at: http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?id=1866 Date: Jan 7, 2010.
  3. Dailymed current medication information . Miconazole. Available at: http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?id=2837 Date: Jan 7, 2010.
  4. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: Jan 7, 2010.).
  5. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Corticosteroids Medium to Very High Potency (Topical) Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.
  6. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Miconazole (Topical) Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.

ไตรรัตน์ แก้วเรือง
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
08 มกราคม 2554 21 มีนาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย